ปกติแล้วการติดตั้งและรื้อถอนเพื่อปรับปรุงเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงของ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) นั้น จำเป็นจะต้องดับไฟฟ้าระหว่างซ่อมแซม เพื่อความปลอดภัยของผู้ปฏิบัติงาน ซึ่งอาจจะต้องดับไฟเป็นระยะเวลากว่า 8 ชั่วโมง ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจหลายสิบล้านบาท กฟผ. จึงได้คิดค้น ‘Crossarm แบบชั่วคราว’ หรือ ‘แขนเสาส่งเทียม’ นวัตกรรมใหม่เป็นแห่งแรกของโลก ที่ช่วยให้ทำงานได้โดยไม่ต้องดับไฟระหว่างการติดตั้งและรื้อถอนเสาส่งไฟฟ้าแรงสูง ซึ่งถือเป็นเรื่องแปลกใหม่ในวงการระบบส่งไฟฟ้าเลยทีเดียว
เริ่มจากปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่ปฏิบัติงานด้านระบบส่งไฟฟ้าบริเวณภาคเหนือ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ซึ่งแขวงการทางเชียงรายที่ 1 กรมทางหลวง เตรียมจะดำเนินการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 1421 สายเชียงราย-อ.ขุนตาล แต่พบว่ามีสายส่งไฟฟ้าแรงสูงระดับแรงดัน 115 กิโลโวลต์ ของ กฟผ. พาดผ่านบริเวณบ้านปงหลวง อ.เวียงชัย จ.เชียงราย อยู่แล้ว ซึ่งจุดดังกล่าวหากก่อสร้างถนน จะมีระยะของความสูงระหว่างพื้นถนนและสายส่งไฟฟ้าแรงสูง หรือเรียกว่าระยะความปลอดภัยในการก่อสร้างทางไฟฟ้าต่ำกว่ามาตรฐานที่การพลังงานแห่งชาติกำหนดเอาไว้ ที่กำหนดให้ต้องยกระดับสายส่งไฟฟ้าให้สูงขึ้นจำนวน 9 เมตร
ด้วยเหตุนี้ กฟผ. จึงต้องดำเนินการออกแบบเพื่อยกระดับสายส่งไฟฟ้าใหม่ให้สูงขึ้น โดยต้องตั้งเสาใหม่ 1 ต้น และรื้อเสาเดิมออก 1 ต้น รวมถึงย้ายสายขึ้นเสาส่งไฟฟ้าแรงสูงต้นใหม่ แต่ด้วยข้อจำกัดที่สายส่งเส้นดังกล่าวเป็นสายส่งแบบ 1 เส้น 1 วงจร หากทำการดับไฟเพื่อยกระดับสายส่งจะทำให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้ามากกว่า 50,000 ราย ใน 11 อำเภอของ จ.เชียงราย และ จ.พะเยา รวมทั้งฝั่ง สปป.ลาว บางส่วนอีกด้วย นวัตกรรม Crossarm แบบชั่วคราว จึงตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งไม่กระทบต่อผู้ใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก และไม่เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจภาพรวมอีกด้วย
Crossarm แบบชั่วคราว หรือ แขนเสาส่งเทียม จะถูกนำไปติดตั้งประกบกับ Crossarm จริงของเสาส่งต้นที่เราต้องการจะปรับปรุงหรือซ่อมแซม โดย Crossarm ชั่วคราวจะมีความยาว 6 เมตร สำหรับเสาส่งไฟฟ้าแรงดัน 115 กิโลโวลต์ โดยจะติดตั้งทาบยึดกับ Crossarm จริงของเสาส่งไฟฟ้า 4.50 เมตร และยื่นออกไปอีก 1.50 เมตร ซึ่งเป็นระยะปลอดภัยในการทำงาน แล้วปลดสายที่หุ้มฉนวน (Conductor) จากเสาต้นเดิมไปไว้ที่ Crossarm ชั่วคราวเพื่อถ่างสาย Conductor ออกไปให้เกิดระยะที่ปลอดภัยในการทำงาน และเมื่อตั้งเสาส่งไฟฟ้าต้นใหม่แล้วเสร็จก็จะดึงสาย Conductor กลับเข้ามายึดกับเสาส่งไฟฟ้าต้นใหม่ จากนั้นจึงรื้อ Crossarm ชั่วคราวออกพร้อมเสาส่งไฟฟ้าต้นเดิมออกไปนั่นเอง
ข่าวน่าสนใจ:
นายวิสูตร ชำนาญช่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ-2 ฝ่ายปฏิบัติการภาคเหนือ กฟผ. ผู้ให้คำแนะนำและสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมชิ้นนี้ เล่าว่า “Crossarm แบบชั่วคราวนี้ ทำให้ผู้ปฏิบัติงานสามารถทำงานได้ง่าย สะดวก และรวดเร็วมากยิ่งขึ้น มีความปลอดภัยระหว่างการทำงานแม้ไม่ดับไฟฟ้า และสามารถนำเอานวัตกรรมนี้ไปขยายต่อในงานของระบบส่งไฟฟ้าด้านอื่นของ กฟผ. ได้ เช่น การปรับปรุงเสาส่งไฟฟ้าในเขตเมืองซึ่งปกติจะต้องรอดับไฟช่วงเทศกาล ทำให้สามารถทำงานในช่วงไหนก็ได้โดยไม่ต้องรอดับไฟ นอกจากนี้ ยังนำไปใช้กับโครงการปรับปรุงสายส่ง จากวงจรเดี่ยวขยายให้ใหญ่ขึ้นในหลายๆ แนวทั่วประเทศ ซึ่งปกติต้องดับไฟและทำแนวเสาส่งไฟฟ้าชั่วคราวขึ้นมาตลอดแนว แต่ถ้าใช้ Crossarm ชั่วคราว ก็ไม่ต้องทำแนวเสาส่งไฟฟ้าชั่วคราวทำให้สามารถประหยัดทั้งงบประมาณจำนวนหลายล้านบาทและประหยัดแรงงานคนได้”
นวัตกรรม Crossarm แบบชั่วคราว ของ กฟผ. ชิ้นนี้ กำลังอยู่ในช่วงรอการจดทะเบียนสิทธิบัตร เป็นนวัตกรรมที่คิดค้นโดยผู้ปฏิบัติงาน กฟผ. ที่อยู่หน้างานจริง จึงตอบโจทย์การทำงานได้อย่างปลอดภัย ประชาชนยังคงมีไฟฟ้าใช้อย่างต่อเนื่อง เพียงพอ ถือเป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของนวัตกรรมโดยคนไทยที่บอกได้ว่ามีที่นี่หนึ่งเดียวในโลกเท่านั้น
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: