X

ศบค. ออกคำสั่งพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัดแล้ว พร้อมข้อกำหนด-ข้อห้าม

กรุงเทพฯ – ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่ง ศบค. กำหนดพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด พร้อมข้อกำหนด-ข้อห้ามต่าง ๆ มีผลตั้งแต่เวลา 06.00 น. วันที่ 4 ม.ค.2564

วันที่ 3 มกราคม 2563 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ คำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ที่ 1/2564 เรื่อง พื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคมพ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2564 นั้นเพื่อให้การบริหารจัดการและเตรียมความพร้อมในการป้องกันการระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตามแนวทางการจัดเขตพื้นที่สถานการณ์ตามข้อกำหนด ออกตามความในมาตา๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

อาศัยอำนาจตามความในข้อ 4 (2) ของคำสั่งนำยกรัฐมนตรี ที่ 4/2563 เรื่อง แต่งตั้งผู้กำกับการปฏิบัติงาน หัวหน้าผู้รับผิดชอบและพนักงานเจ้าหน้าที่ในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินลงวันที่ 25 มีนาคม พ.ศ.2563 และที่แก้ไขเพิ่มเติม นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้อำนวยการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 โดยคำแนะนำของศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์ และสาธารณสุขและศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กระทรวงมหาดไทย

จึงมีคำสั่งให้หัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉินและพนักงานเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติการให้เป็นไปตามมาตรการ ตามข้อกำหนดฯ สำหรับเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กำหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามบัญชีรายชื่อจังหวัดแนบท้ายคำสั่งนี้ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2564 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง เป็นอย่างอื่นสั่ง ณ วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2564
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี

สำหรับพื้นที่ควบคุมสูงสุด 28 จังหวัด มีดังนี้
1. กรุงเทพมหานคร
2. จังหวัดกาญจนบุรี
3. จังหวัดจันทบุรี
4. จังหวัดฉะเชิงเทรา
5. จังหวัดชุมพร
6. จังหวัดชลบุรี
7. จังหวัดตราด
8. จังหวัดตาก
9. จังหวัดนครนายก
10. จังหวัดนครปฐม
11. จังหวัดนนทบุรี
12. จังหวัดปทุมธานี
13. จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
14. จังหวัดปราจีนบุรี
15. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
16. จังหวัดเพชรบุรี
17. จังหวัดราชบุรี
18. จังหวัดระนอง
19. จังหวัดระยอง
20. จังหวัดลพบุรี
21. จังหวัดสิงห์บุรี
22. จังหวัดสมุทรปราการ
23. จังหวัดสมุทรสงคราม
24. จังหวัดสมุทรสาคร
25. จังหวัดสุพรรณบุรี
26. จังหวัดสระแก้ว
27. จังหวัดสระบุรี
28. จังหวัดอ่างทอง

ราชกิจจานุเบกษา ยังเผยแพร่ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 16) ความว่า

ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวออกไป เป็นคราวที่ 8 จนถึงวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2564 นั้น โดยที่การระบาดระลอกใหม่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ได้ขยายขอบเขตการแพร์โรค ออกเป็นวงกว้างกระจายไปในหลายเขตพื้นที่ และการตรวจพบผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อรายใหม่โดยเฉพาะ กรณีที่เป็นการติดเชื้อภายในประเทศมีจํานวนเพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ประกอบกับมีการเดินทางของบุคคล จากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งโดยส่วนใหญ่ยังไม่ปรากฏอาการ ของโรคเป็นเหตุให้เชื้อโรคแพร่ออกไปในลักษณะที่เป็นกลุ่มก้อน

นอกจากนี้ พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งปฏิบัติงานเพื่อควบคุมโรคพบว่า มีผู้ติดเชื้อโรคบางส่วนปกปิดข้อมูลการเดินทางทําให้ขั้นตอน การสอบสวนโรคเกิดความล่าช้าและเป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติงานอื่นที่เกี่ยวข้องจนส่งผลให้เกิดเป็น การระบาดระลอกใหม่ขึ้นเป็นวงกว้าง รัฐบาลจึงมีความจําเป็นที่ต้องกําหนดและบังคับใช้บรรดา มาตรการต่างๆ เพื่อเข้าแก้ไขและระงับยับยั้งสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าวนี้ อาศัยอํานาจตามความใน มาตรา 9 แห่งพระราชกําหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกําหนด และข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลาย ดังต่อไปนี้

ข้อ 1 การห้ามใช้อาคารหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร์โรค ห้ามการใช้อาคารหรือสถานที่ ของโรงเรียนและสถาบันการศึกษาทุกประเภทที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ ควบคุมสูงสุด เพื่อการจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทํากิจกรรมใด ๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจํานวนมาก เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้
(1) เป็นการเรียนการสอนหรือกิจกรรมเพื่อการสื่อสารแบบทางไกลหรือด้วยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์

(2) เป็นการใช้อาคารหรือสถานที่เพื่อให้ความช่วยเหลือ สงเคราะห์ อุปถัมภ์ หรือ ให้การอุปการะแก่บุคคล

(3) เป็นการจัดกิจกรรมของทางราชการหรือกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยได้รับอนุญาต จากผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัด

(4) เป็นโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาที่มีขนาดเล็กที่มีจํานวนนักเรียนรวมทั้งโรงเรียนไม่เกิน 120 คน หรือเป็นโรงเรียนตํารวจตระเวนชายแดน

ข้อ 2 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ห้ามการจัดกิจกรรม ในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดซึ่งมีผู้เข้าร่วมเป็นจํานวนมากและมีโอกาส ติดต่อสัมผัสกันได้โดยง่าย เช่น การประชุม การสัมมนา การจัดเลี้ยง การแจกจ่ายอาหารหรือ สิ่งของต่าง ๆ เว้นแต่เป็นการดําเนินการโดยพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ หรือเป็นการจัดกิจกรรมในพื้นที่ที่กําหนดให้เป็นสถานที่กักกันโรคโดยมีมาตรการทางสาธารณสุขรองรับ ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยคําแนะนําของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยคําแนะนําของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด กําหนดหลักเกณฑ์ การพิจารณาอนุญาตของพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ความรับผิดชอบ

ข้อ 3 การปิดสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือ ผู้ว่าราชการจังหวัด อาศัยอํานาจตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อพิจารณาสั่งปิดสถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่สถานการณ์ ที่กําหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด

ข้อ 4 เงื่อนไขการเปิดดําเนินการในเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ให้สถานที่ กิจการ หรือการทํากิจกรรม ดังต่อไปนี้เปิดดําเนินการได้ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา และการจัดระบบและระเบียบต่าง ๆ ที่กําหนด
(1) การจําหน่ายอาหารหรือเครื่องดื่ม ให้จัดระเบียบการเข้าใช้บริการ จํานวนผู้นั่งบริโภค ในร้าน การจัดสถานที่ให้เป็นไปตามแนวปฏิบัติและมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด โดยอาจให้เป็นลักษณะของการนํากลับไปบริโภคที่อื่น โดยให้ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19 กระทรวงมหาดไทยและศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข ร่วมกันพิจารณาประเมิน กําหนดรูปแบบและกํากับการดําเนินการตามข้อปฏิบัติและมาตรการดังกล่าวของแต่ละพื้นที่จังหวัด ให้มีความเหมาะสม

(2) การจําหน่ายสุรา สําหรับร้านอาหารหรือสถานที่ซึ่งจําหน่ายสุรา ห้ามการบริโภคสุรา และเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ในร้าน

(3) ห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ศูนย์แสดงสินค้า ศูนย์ประชุม หรือสถานที่จัดนิทรรศการ ร้านสะดวกซื้อ ซุปเปอร์มาร์เก็ต หรือสถานประกอบการอื่นที่มีลักษณะ คล้ายกัน ให้เปิดทําการได้ตามเวลาปกติของสถานที่นั้น ๆ ภายใต้การดําเนินการมาตรการป้องกันโรค ที่ทางราชการกําหนดอย่างเคร่งครัด

ข้อ 5 มาตรการที่เหมาะสมกับสถานการณ์ในพื้นที่เพื่อการป้องกันระงับยับยั้ง การแพร่โรคที่สอดคล้องกับสถานการณ์ของแต่ละเขตพื้นที่สถานการณ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดอาจพิจารณาดําเนินการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อในการสั่งปิด จํากัด หรือห้ามการดําเนินการของพื้นที่ สถานที่ หรือพาหนะหรือสั่งให้งดการทํากิจกรรมอื่นในเขต พื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการระบาดของโรคเพิ่มเติมนอกเหนือจากที่กําหนดได้ โดยให้ ดําเนินการตามมาตรการหรือแนวปฏิบัติตามข้อกําหนด (ฉบับที่ 15)

ข้อ 6 การตรวจคัดกรองการเดินทางข้ามจังหวัด ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจและ คัดกรองการเดินทางโดยใช้เส้นทางคมนาคมข้ามเขตพื้นที่จังหวัด โดยเฉพาะการเดินทางของบุคคล จากเขตพื้นที่สถานการณ์ที่กําหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด ทั้งนี้ ให้ดําเนินการตามมาตรการ ที่ ศปก.ศบค. กําหนด โดยให้พิจารณาถึงความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ และต้องไม่เป็นการ ก่อความเดือดร้อนแก่ประชาชนเกินสมควรแก่เหตุ ให้ประชาชนงดหรือชะลอการเดินทางข้ามเขตพื้นที่จังหวัดเว้นแต่กรณีมีเหตุจําเป็น ซึ่งต้องแสดงเหตุผลและหลักฐานต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ รวมทั้งเข้ารับการตรวจคัดกรองและต้องปฏิบัติ ตามมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกําหนด อันอาจทําให้ไม่ได้รับความสะดวกในการเดินทางและ ทําให้ต้องใช้ระยะเวลาการเดินทางมากกว่าปกติ

ข้อ 7 ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการภาคเอกชนพิจารณารูปแบบการปฏิบัติงานในช่วงระยะเวลานี้ ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง หรือการสลับวันหรือการเหลื่อมเวลา เข้าปฏิบัติงานเพื่อลดจํานวนผู้ปฏิบัติงานและปริมาณการเดินทางซึ่งเป็นมาตรการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ

ข้อ 8 ให้คณะกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาผ่อนคลายการบังคับใช้มาตรการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ตรวจสอบกลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอนุญาตให้ผ่อนคลายหรือกระชับมาตรการที่ใช้บังคับกับสถานที่ กิจการ หรือกิจกรรมเพิ่มเติมได้เพื่อความเหมาะสมต่อสถานการณ์ตามที่เห็นสมควร

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม พ.ศ.2564 เวลา 06.00 น. เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 3 มกราคม พ.ศ.2564
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"