กรุงเทพฯ – นายอลงกรณ์ พลบุตร แนะ 3 แนวทาง เจรจาเมียนมาร่วมไทย เปิดประตูตะวันตก ดัน จ.กาญจนบุรี เป็นฮับขนส่ง มุ่งตลาดเอเซียใต้-ตะวันออกกลาง-แอฟริกา-ยุโรป
วันที่ 24 มกราคม 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และประธานคณะกรรมการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์พรรค ให้ความเห็นกรณี บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งเป็นคู่สัญญากลุ่มธุรกิจร่วมทุน ภายใต้บริษัทจดทะเบียนในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ถูกบอกเลิกสัญญาจาก คณะกรรมการบริหารงานพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย ว่า ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลเมียนมายกเลิกโครงการพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษทวาย เพียงแต่เป็นการรีเซ็ตโครงการ เห็นด้วยที่สภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เสนอ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เจรจากับรัฐบาลเมียนมา เพื่อเดินหน้าโครงการทวายต่อไป และนายกรัฐมนตรีมอบหมาย นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นผู้เจรจา เพราะนายอาคมรู้ลึกถึงโครงการนี้ตั้งแต่เริ่มตั้งไข่
นายอลงกรณ์ ระบุว่า โครงการเขตเศรษฐกิจพิเศษและท่าเรือน้ำลึกทวาย เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยและอาเซียน เพราะเป็นเส้นทางการขนส่ง (โลจิสติกส์) ฝั่งตะวันตกของไทย ซึ่งวาง จ.กาญจนบุรี เป็นประตูตะวันตกและโลจิสติกส์ฮับ เชื่อมโยงแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) ระหว่างเมียนมา–ไทย–กัมพูชา–เวียดนาม สู่ตลาด 3 ทวีป คือ เอเซียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยไม่ต้องผ่านช่องแคบมะละกา ช่วยลดระยะเวลาและต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ รวมทั้งการท่องเที่ยวก็ได้ประโยชน์อย่างมาก จึงต้องเร่งเจรจาเพื่อเดินหน้าโครงการนี้ต่อ ซึ่งต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้เพื่ออนาคตยุคหลังโควิด-19 และขอเสนอแนะแนวทางการเจรจา 3 ประการ เป็นกรอบและเป้าหมายระยะเร่งด่วน ในช่วงรีเซ็ตโครงการกับรัฐบาลเมียนมาดังนี้
1.เร่งพัฒนาเส้นทางโลจิสติกส์ทั้งระบบถนน รางรถไฟ เครื่องบินและการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกทวาย เชื่อมโยงจีน เวียดนาม ลาว กัมพูชา ไทยและพม่าสู่ตลาดเอเซียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกาและยุโรปเนื่องจากได้พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานมามากแล้ว
2.เปิดกว้างการสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมของไทยลงทุนในนิคมอุตสาหกรรมกาญจนบุรีและเขตเศรษฐกิจพิเศษทวายภายใต้การพัฒนาร่วมระเบียงเศรษฐกิจตะวันตก(Western Economic Corridor)กับระเบียงเศรษฐกิจใต้ของเมียนมา
3.ดึงความร่วมมือจากจีน ญี่ปุ่น อินเดีย ตะวันออกกลาง เวียดนาม ลาว และกัมพูชามาสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากโครงการนี้โดยเฉพาะด้านการขนส่งโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมและการท่องเที่ยว
นายอลงกรณ์ พลบุตร กล่าวด้วยว่า การพัฒนาช่วงรีเซ็ตโครงการ โดยเร่งพัฒนาตามแนวทางดังกล่าว จะทำได้เร็วและเกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยมีไทยและเมียนมาเป็นแกนนำการขับเคลื่อน ข้อเสนอนี้ยังสอดคล้องกับ แผนแม่บทการเชื่อมโยงเส้นทางคมนาคมขนส่งของอาเซียน (ASEAN Connectivity) ซึ่งได้รับการผลักดันจากกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงและญี่ปุ่นมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อเปิดเส้นทางการค้าและประตูเชื่อมเศรษฐกิจฝั่งตะวันตกแห่งใหม่ ตามแนวระเบียงเศรษฐกิจตอนใต้ของอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (Greater Mekong Sub-region : GMS) โดยท่าเรือน้ำลึกทวายจะเป็นประตูการค้าฝั่งตะวันตกของภูมิภาค สร้างทางลัดโลจิสติกส์เชื่อมโยงภูมิภาคอาเซียนกับโลกตะวันออกและโลกตะวันตก
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: