กรุงเทพฯ – กระทรวงเกษตรฯ จับมือสภาอุตสาหกรรมฯ ผนึก AIC เดินหน้าปั้นนิคมอุตสาหกรรมเกษตร (Agroindustry) 18 กลุ่มจังหวัด ดึง ‘กนก อภิรดี-ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์’ นักบริหารมืออาชีพ เสริมทัพขับเคลื่อน เริ่มต้นเฟสแรก 8 กลุ่มจังหวัด
วันที่ 27 มกราคม 2564 นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.) แถลงว่า ภายใต้นโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่มุ่งมั่นสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตรตลอดห่วงโซ่อุปทาน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและสร้างรายได้เพิ่มให้กับเกษตรกรฯ นั้น คณะกรรมการความร่วมมือระหว่าง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กรกอ.)
ที่ประชุมครั้งที่ 1/2564 มีมติเห็นชอบโครงการ งหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัด’ โดยจะส่งเสริมสนับสนุนการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตร (Agroindustry) 18 แห่ง ใน 18 กลุ่มจังหวัดทุกภาค เพื่อเป็นฐานการแปรรูปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าเกษตรตามศักยภาพของแต่ละกลุ่มจังหวัด โดยผนึกความร่วมมือกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐภาคเอกชนภาควิชาการและภาคเกษตรกร เช่น สภาเกษตรกรแห่งชาติ สันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย มีศูนย์เทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม หรือ ศูนย์ AIC ทุกจังหวัด ร่วมขับเคลื่อนในโครงการนี้ โดยได้นักบริหารมืออาชีพระดับประเทศมาเสริมทัพเป็นประธานคณะอนุกรรมการส่งเสริมการลงทุนอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร คือ นายกนก อภิรดี อดีตประธานธนาคารเอสเอ็มอี และผู้อำนวยการใหญ่การบินไทย
นอกจากนี้ กรกอ. ยังมีมติเห็นชอบโครงการพัฒนาเกษตรแม่นยำ (Precision Agriculture) สู่ธุรกิจอุตสาหกรรม 2 ล้านไร่ ตามที่สภาอุตสาหกรรมฯ (ส.อ.ท) และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เสนอโดยใช้เทคโนโลยี นวัตกรรมและการบริหารจัดการทรัพยากรการเกษตรและสิ่งแวดล้อมอย่างสมดุลและยั่งยืน
ข่าวน่าสนใจ:
นายอลงกรณ์ แถลงอีกว่า กรกอ. รับทราบรายงานความคืบหน้า การดำเนินโครงการและกิจกรรมอีกหลายเรื่อง อาทิ โครงการอุตสาหกรรมไก่ฮาลาลครบวงจร ภายใต้การพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจฮาลาล จะลงนามความร่วมมือที่จังหวัดยะลา ในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2564, รายงานความก้าวหน้าโครงการอาหารแห่งอนาคต (Future Food) ว่าด้วยโปรตีนจากพืช (Plant based protein) ซึ่งเป็นโปรตีนทางเลือกใหม่ จะส่งเสริมเกษตรกรปลูกพืชโปรตีน เช่น ถั่วเขียวเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในรูปเกษตรแปลงใหญ่, รายงานสถานการณ์และแนวโน้มอนาคตของอุตสาหกรรมเกษตรและโครงการ Food Valley, รายงานการส่งเสริมการลงทุนเทคโนโลยีเกษตรและนวัตกรรม (Agritech & Innovation)
ที่ประชุม กรกอ. พิจารณาเห็นว่า ภายใต้วิกฤติการณ์โควิด-19 ส่งผลกระทบต่อภาคเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม ทั้งในเชิงปัญหาและโอกาส จึงต้องมีแนวทางและแผนการเปลี่ยนผ่านด้านอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร เพื่อสร้างโอกาสใหม่ให้ประเทศไทย โดยเฉพาะเกษตรกร สถาบันเกษตรกรและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมกลุ่มเกษตรอาหาร จึงมีมติให้ นายยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการจัดทำแนวทางและแผนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร มีอำนาจหน้าที่สำคัญ คือ กำหนดแนวทางการพัฒนาเพื่อส่งเสริมการรวมกลุ่มเครือข่ายคลัสเตอร์ เกษตรอาหาร โดยเชื่อมโยงการพัฒนาตลอดห่วงโซ่มูลค่าของอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร เริ่มตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง
สำหรับโครงการหนึ่งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหาร หนึ่งกลุ่มจังหวัดนั้น มีอย่างน้อย 8 กลุ่มจังหวัดที่กำลังดำเนินการและอยู่ระหว่างการพิจารณาดำเนินการ ได้แก่ 1.กลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 2.กลุ่มจังหวัดอีสานตอนกลาง 3.กลุ่มจังหวัดอีสานตอนล่าง 4.กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน 5.กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออก (อีอีซี.) 6.กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน (กลุ่มล้านนา) 7.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนล่าง และ 8.กลุ่มจังหวัดภาคใต้ตอนกลาง
“กรกอ.จะเร่งดำเนินการตามมติที่ประชุม เมื่อ 21 มกราคม 2564 ในการสนับสนุนทุกภาคส่วนให้มีส่วนร่วม จัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมเกษตรอาหารทั้งขนาดเล็กขนาดกลางขนาดใหญ่ให้ครบทั้ง 18 กลุ่มจังหวัด เพื่อสร้างระบบการแปรรูปสินค้าเกษตรเชิงโครงสร้างทั่วประเทศเป็นกระจายการลงทุน การสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจภายในประเทศและกระจายโอกาสสร้างความสมดุลในการพัฒนาที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและชุมชนตามยุทธศาสตร์ชาติ แผนปฏิรูปประเทศ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบายรัฐบาลและนโยบายของกระทรวงเกษตรและส.อ.ท.” ประธาน กรกอ.กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: