‘กรุงเทพมหานคร’ ศูนย์กลางความเจริญ และแหล่งรวมประชากรมากที่สุดในประเทศไทย มีความสลับซับซ้อนที่สัมพันธ์โดยตรงกับทั้ง วิถีชีวิต ความหลากหลายของผู้คน ความเชื่อ-วัฒนธรรมที่แตกต่าง ตลอดจนมิติทางเศรษฐกิจและเศรษฐานะ นำมาสู่ปัญหาที่มีลักษณะลงลึกและค่อนข้างจำเพาะ
ดังนั้น การจะแก้ไขปัญหาอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงไม่อาจทำให้สำเร็จได้ด้วยตัวคนเดียวหรือเพียงองค์กรเดียว หัวใจการคลี่คลายปัญหาเหล่านั้น จำเป็นต้องใช้แนวทางการ ‘สานพลัง’ และ ‘กระบวนการมีส่วนร่วม’
ร่วมกำหนดอนาคตเมืองกรุง
นั่นเป็นที่มาของความร่วมไม้ร่วมมือระหว่าง กรุงเทพมหานคร (กทม.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และองค์กรภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันระดมสมอง ออกแบบนโยบาย วางจังหวะก้าว เพื่อแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด ภายใต้กระบวนการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนที่เรียกว่า “สมัชชาสุขภาพ” ซึ่งในหนึ่งในเครื่องมือตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550
จุดเริ่มต้นของ ‘สมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร’ ก่อเกิดขึ้น โดยมีกลไกการทำงาน คือคณะกรรมการสนับสนุนการจัดและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร (คจ.สก.) ซึ่งได้จัดงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 26 พ.ย. 2563 ณ ศาลาว่าการ กทม. เขตดินแดง เพื่อแสวงหาฉันทมติต่อการแก้ไขปัญหาร่วม ของคนกรุง ท่ามกลางมาตรการเข้มในการป้องกันโรคโควิด-19 งานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1 จึงจำกัดผู้เข้าร่วมเพียง 335 คน ทว่ามีการเชื่อมต่อสัญญาณไปยังทุกพื้นสำนักงานเขตเพื่อเปิดกว้างในการแสดงความคิดเห็น รวมทั้งจัดถ่ายทอดสดผ่าน Facebook fanpage ของกรุงเทพมหานคร อีกด้วย
ข่าวน่าสนใจ:
‘สองมติ’ สมัชชาสุขภาพ กทม. ครั้งที่ 1
ทั่วไปอาจมองว่า หาบเร่แผงลอยเต็มไปด้วยความระเกะระกะ ไร้ระเบียบ ก่อให้เกิดปัญหาทั้งด้านสุขภาพและสิ่งแวดล้อม บ่อยครั้งที่คนกรุงรู้สึกรำคาญเพราะถูกรุกล้ำพื้นที่สาธารณะ ทว่าอีกมุมหนึ่ง หาบเร่แผงลอยกลับคือโอกาส รายได้ และเสน่ห์ของกรุงเทพฯ โดยเฉพาะในวิกฤตโควิด-19 ที่พบว่า หาบเร่แผงลอยมีส่วนสำคัญในระบบนิเวศอาหาร ช่วยให้คนกรุงยังชีพและประทังชีวิตได้ในสถานการณ์อันยากลำบาก พล.ต.ท.โสภณ พิสุทธิวงษ์ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานเปิดการประชุมงานสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ จึงมุ่งไปสู่การจัดทำนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพแบบมีส่วนร่วม เน้นในเรื่องของการ “สร้างความสมดุล” เพื่อให้ทุกฝ่ายสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ
หลังจากถกแถลงกันอย่างกว้างขวางและครอบคลุมทุกมิติของเนื้อหาแล้ว สมาชิกสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ มีฉันทมติใน 2 ระเบียบวาระ โดยไม่มีผู้คัดค้านแม้แต่รายเดียว ประกอบด้วย 1.ธรรมนูญสุขภาพกรุงเทพมหานคร และ 2.การจัดการหาบเร่แผงลอยและการใช้พื้นที่สาธารณะร่วมกันของกรุงเทพมหานคร
โดยมีคณะกรรมการเขตสุขภาพเพื่อประชาชน (กขป.) เขตพื้นที่ 13 กรุงเทพมหานคร ซึ่งมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเป็นประธาน และ นพ.วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ ผู้ตรวจราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานคณะทำงานติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ร่วมกันทำหน้าที่ประสานความร่วมมือกับภาคีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการติดตามและขับเคลื่อนมติสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ 1
พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. หนึ่งในตัวแทนผู้ร่วมขบวนการสร้างเสริมสุขภาพให้กับคนกรุง กล่าวว่า สสส. มีความยินดีที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะด้านสุขภาพแบบในพื้นที่กรุงเทพมหานคร กระบวนการดังกล่าวทำให้เกิดพื้นที่สาธารณะสำหรับปรึกษาหารือ แลกเปลี่ยนความคิดเห็น โดยมีงานวิชาการหรือข้อมูลและความรู้เชิงประจักษ์เป็นฐานในการตัดสินใจเพื่อหาทางเลือกในพัฒนา แก้ไขปัญหาร่วมกัน
ถือเป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายที่สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเท่าเทียม สอดคล้องกับการทำงานตลอดระยะเวลาเกือบ 20 ปีของ สสส. ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างนวัตกรรมที่คำนึงถึงความยั่งยืนทางสุขภาพของประชาชน ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่ายหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นโยบายที่กำลังจะเกิดขึ้น จะช่วยแก้ปัญหากรุงเทพได้อย่างตรงจุด และสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับคนกรุงเทพยิ่ง ๆ ขึ้นไป
เดินหน้าต่อ! สมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ 2
คจ.สก. ตั้งวงพูดคุยเพื่อหารือถึงการจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 พ.ศ.2564 เมื่อวันที่ 20 ม.ค.2564 ก่อนจะมีมติกำหนดจัดสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 2 ปลายเดือนพฤศจิกายน 2564 นี้ โดยเปิดพื้นที่รับการเสนอประเด็นจากประชาชนและภาคีเครือข่าย เพื่อนำเข้าสู่กระบวนการสมัชชาสุขภาพ ให้ทุกฝ่ายร่วมกันแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เรียนรู้อย่างสมานฉันท์ พัฒนาสู่การเป็นข้อเสนอนโยบายสาธารณะเพื่อสุขภาพหรือความมีสุขภาวะที่ดีของประชาชน
สำหรับประเด็นที่ประชาชนและภาคีเครือข่ายจะเสนอ ควรมีลักษณะการมีส่วนร่วมจากหลายฝ่าย เป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก เป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับสุขภาวะที่สำคัญ และมีความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือ ผลักดันนโยบายไปสู่การปฏิบัติ โดยเปิดรับการเสนอประเด็น ถึงวันจันทร์ที่ 15 มีนาคม 2564 นี้ หากมีประเด็นที่ส่งมาล่าช้ากว่าที่กำหนดไว้ คจ.สก.จะพิจารณาช่องทางการสร้างการมีส่วนร่วมที่เหมาะสมต่อไป
ทั้งนี้ ประชาชนภาคีเครือข่ายสามารถเสนอประเด็นได้ 2 ช่องทาง
1.กรอกข้อมูลผ่าน QR Code
2.ช่องทาง https://qrgo.page.link/sGyof และสามารถดาวโหลดแบบฟอร์มได้ที่ https://qrgo.page.link/8SvDo
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: