กรุงเทพฯ – นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ นำภาคเอกชน หารือ ก.ล.ต. ปรับลดกฏเกณฑ์การลงทุนคริปโต ปิดกั้นธุรกิจ แนะทบทวนก่อนมีผลลบต่อสตาร์ทอัพฟินเทคไทย
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ เชิญ นางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล กรรมการและเลขานุการในคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ร่วมหารือกับ ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลภาคเอกชนไทย นำโดย นายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิทคับแคปปิตอล กรุ๊ป โฮลดิ้ง, นายปรมินทร์ อินโสม ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สตางค์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด, นายสัญชัย ปอปลี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท คริปโตมายด์ จำกัด และนางสาวพราว ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่กลยุทธ์ บริษัท ซิปเม็กซ์ จำกัด เกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี หลังพบประชาชนจำนวนมากกังวลใจและเข้าใจคลาดเคลื่อน โดยเปิดคลับเฮาส์ชวนประชาชนทั่วไปร่วมหารือประเด็นดังกล่าวด้วย
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ระบุว่า ในฐานะอดีตกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเป็นที่ปรึกษาสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัล ทำงานด้านนี้มากว่า 7 ปี เข้าใจดีถึงความกังวลใจของหลายฝ่าย ถึงการที่ ก.ล.ต.เสนอเบื้องต้น กำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี ให้มีรายได้ต่อปี 1 ล้านบาทขึ้นไป และกำหนดให้ต้องผ่านการทดสอบความรู้ก่อนการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล จึงอาสาเป็นตัวกลางที่เชิญทั้ง ก.ล.ต. ผู้ให้บริการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลภาคเอกชน และประชาชน มาร่วมแสดงความคิดเห็นกันแบบเรียลไทม์ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนการนำเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) โดยเฉพาะบล็อกเชน ที่ได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวางจากทั่วโลก มาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมการเงินยุคใหม่ของไทย ให้สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้ ผ่านการสนับสนุนสตาร์อัพไทยที่มีศักยภาพ ดังที่ตนและทีมเศรษฐกิจทันสมัยปชป.พยายามทำมาอย่างต่อเนื่อง
ข่าวน่าสนใจ:
ด้านนางสาวรื่นวดี สุวรรณมงคล ระบุว่า ทุกวันนี้คนไทยจำนวนไม่น้อย มองการลงทุนและการเก็งกำไรเป็นเรื่องเดียวกัน ทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย เช่น ต้องกู้ยืมเงินเพื่อมาซื้อบิตคอยน์ เพราะมองการเก็งกำไรเป็นการลงทุน จนไม่ได้เผื่อใจที่จะขาดทุน ทำให้เกิดหนี้สิน รวมถึงปัจจุบันมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่ เข้ามาสู่ตลาดสินทรัพย์ดิจิทัลกันมากขึ้น ก.ล.ต.ในฐานะผู้ให้ใบอนุญาตแก่นักลงทุนมีความเป็นห่วง จึงลองตั้งโมเดลกฎเกณฑ์การกำหนดคุณสมบัติผู้ลงทุนในคริปโตเคอร์เรนซี ออกมาให้ประชาชนได้ลองอ่านแล้วตกผลึก เพื่อแสดงความคิดผ่านระบบ “hearing” ของ ก.ล.ต. ว่าแท้จริงแล้วต้องการคุ้มครองในลักษณะใด ซึ่งยืนยันว่านี่เป็นเพียงการ “โยนหินถามทาง” เท่านั้น ยังไม่ใช่กฎเกณฑ์ที่จะบังคับใช้ทันที
ส่วนนายจิรายุส ทรัพย์ศรีโสภา ให้ความเห็นว่า เข้าใจว่าธุรกิจด้านสินทรัพย์ดิจิทัลเป็นเรื่องใหม่ ที่ทำให้ ก.ล.ต.เกิดความกดดัน แต่ไม่ควรสร้างกำแพงปิดกั้นธุรกิจที่กำลังเติบโต หากมีกฎเกณฑ์ที่มากเกินไป จะยิ่งเป็นข้อจำกัดมากขึ้นเท่านั้น ในระยะยาวอาจทำให้สถาบันการเงินแบบใหม่ของไทยค่อย ๆ หายไป และคนจะไปใช้แพลตฟอร์มของต่างชาติมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่ออธิปไตยด้านการเงินของประเทศ
ขณะที่นายปรมินทร์ อินโสม เสนอข้อคิดเห็นเพิ่มเติม ดังนี้
1.หากประเมินความเสี่ยงเบื้องต้นแล้วพบว่าผู้ลงทุนไม่สามารถรับความเสี่ยงได้ ควรเปิดโอกาสให้ผู้ลงทุนนำหลักฐานอื่นมาแสดงเพิ่มเติม เพื่อยืนยันถึงความสามารถในการยอมรับความเสี่ยงของตนเอง
2.ควรกำหนดให้ผู้ต้องการเข้ามาสู่ตลาดคริปโทเคอร์เรนซี ต้องทำแบบทดสอบผ่านเกณฑ์ก่อนเท่านั้น
3.เสนอให้ ก.ล.ต. กำหนดเกรดของคริปโทเคอร์เรนซีประเภทต่าง ๆ เพื่อคัดกรองผู้เข้าถึงการลงทุน
อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต. จะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน ไปจนถึงวันที่ 27 มีนาคม 2564 นี้ ผ่านทาง https://bit.ly/3bNGFgi
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: