X

‘โรงไฟฟ้าเสมือน’ เสริมความมั่นคงพลังงานหมุนเวียนของไทย

นนทบุรี – กฟผ. ผนึกกำลัง 5 หน่วยงาน ร่วมพัฒนาระบบสัญญาและสาธิตการซื้อ-ขายไฟฟ้าในรูปแบบ ‘โรงไฟฟ้าเสมือน’ ในประเทศไทย สร้างเสถียรภาพให้โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เสริมความมั่นคงระบบไฟฟ้าของประเทศ

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ด้านงานวิจัยการพัฒนาระบบสัญญา และสาธิตการซื้อขายไฟฟ้าในรูปแบบโรงไฟฟ้าเสมือนในประเทศไทย เพื่อสร้างเสถียรภาพให้แก่โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าของประเทศ สอดรับกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้น และเพื่อพัฒนารูปแบบธุรกิจพลังงานรูปแบบใหม่ของประเทศ โดยมี นายพลศรี สุวิศิษฏ์อาษา รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า กฟผ., รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.), นายเฉลิม ปุณณะนิธิ EIS Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด, นางมาลี ธนาเพิ่มพูลผล กรรมการผู้จัดการบริษัท สยามอุตสาหกรรมวัสดุทนไฟ จำกัด, นายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท มิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ (ภูหลวง) จำกัด และนายเฉิน กั๋วตง ประธานกรรมการฝ่ายธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมลงนาม ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานใหญ่ จังหวัดนนทบุรี เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2564

นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. ระบุว่า กฟผ. ได้ศึกษาการบริหารจัดการหน่วยผลิตไฟฟ้าในรูปแบบ ‘โรงไฟฟ้าเสมือน (Virtual Power Plant หรือ VPP)’ เพื่อลดข้อจำกัดของการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่ขาดเสถียรภาพ โดยเทคโนโลยี ‘โรงไฟฟ้าเสมือน’ เปรียบเสมือนศูนย์ควบคุมที่ทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนประเภทต่าง ๆ เข้าไว้ด้วยกัน และพิจารณาสั่งการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในแต่ละประเภทให้ผลิตไฟฟ้าได้อย่างเหมาะสม เพื่อให้ปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในระบบเกิดเสถียรภาพเสมือนเป็นโรงไฟฟ้าหลักที่สามารถเสริมความมั่นคงให้แก่ระบบไฟฟ้าของประเทศได้

นอกจากนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อย สามารถเข้าแข่งขันในธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้ทัดเทียมกับผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ นำความได้เปรียบของคุณลักษณะเฉพาะของโรงไฟฟ้า มาเติมเต็มระบบการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ส่งผลให้ผู้ใช้ไฟฟ้าในประเทศได้ใช้ไฟฟ้าที่มีต้นทุนที่เหมาะสม รวมถึงสอดรับกับนโยบายภาครัฐ ในการสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้มีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม โดยมีระยะเวลาวิจัยตั้งแต่ปี 2563 – 2567 แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ

ระยะที่ 1 ออกแบบโมเดลโรงไฟฟ้าเสมือน และคัดเลือกโรงไฟฟ้าที่จะเข้าร่วมโครงการนำร่อง ระยะที่ 2 พัฒนาระบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และทดสอบระบบการสั่งการโรงไฟฟ้า และระยะที่ 3 ทดลองระบบการควบคุมหน่วยการผลิต และการซื้อขายไฟฟ้าในพื้นที่เป้าหมาย โดยใช้โรงไฟฟ้าของ กฟผ. เป็นโรงไฟฟ้าหลัก คาดว่าภายในปี 2573 จะมีรูปแบบธุรกิจโรงไฟฟ้าเสมือนที่มีกำลังการผลิตรวมมากกว่า 400 MW เกิดขึ้น เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าให้กับประเทศไทยต่อไป

ด้าน รศ.ดร.สุวิทย์ แซ่เตีย อธิการบดี มจธ. เปิดเผยว่า โรงไฟฟ้าเสมือน เป็นเทคโนโลยีที่สร้างความพลิกผันด้านพลังงาน คล้ายกับ UBER ที่สามารถบริการรับส่งผู้โดยสารได้ผ่านแพลตฟอร์ม โดยไม่ต้องมีรถแท็กซี่ เช่นเดียวกับโรงไฟฟ้าเสมือนที่สามารถดำเนินการซื้อขายไฟฟ้าได้โดยผ่านแพลตฟอร์มการวิจัยในครั้งนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการศึกษาหาเทคโนโลยี รูปแบบธุรกิจ และการกำกับดูแลที่เหมาะสมกับประเทศไทย

นายเฉลิม ปุณณะนิธิ EIS Director บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์ จำกัด กล่าวว่า ในอนาคตพลังงานหมุนเวียนมีแนวโน้มจะเพิ่มมากขึ้น ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล โดยมีรูปแบบลักษณะกระจายตัว เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าเสมือนจะทำให้การบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้ามีเสถียรภาพมากขึ้น และจะสามารถแก้ปัญหาพลังงานหมุนเวียนที่เพิ่มมากขึ้นในระบบได้

ส่วนนายกฤษฎา มนเทียรวิเชียรฉาย รองประธานกรรมการบริหารบริษัท มิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ จำกัด และบริษัท มิตรผลไบโอ-เพาเวอร์ (ภูหลวง) จำกัด ชี้ว่า การวิจัยโรงไฟฟ้าเสมือนเป็นประโยชน์ทั้งในระดับประเทศ คือ สร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้า ช่วยลดปริมาณไฟฟ้าสำรองที่เกิดจากผลิตไฟฟ้าโดยผู้ใช้ไฟฟ้า และสามารถพยากรณ์ความต้องการใช้ไฟฟ้าได้อย่างแม่นยำ ด้วยการนำเทคโนโลยี Internet of Things มาวิเคราะห์การเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าจากผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า และในระดับองค์กร การวิจัยนี้เป็นประโยชน์ในการศึกษา พัฒนา และแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อให้โครงการสำเร็จลุล่วง และสามารถพัฒนาใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ต่อไป

ขณะที่ นายเฉิน กั๋วตง ประธานกรรมการฝ่ายธุรกิจเอนเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด บอกว่า โรงไฟฟ้าเสมือน นับเป็นการขับเคลื่อนในภาคพลังงาน ซึ่งในอีก 5 ปีข้างหน้าจะมีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น 5G บล็อกเชน และบริการคลาวด์ไปใช้กับโรงไฟฟ้าที่ตั้งอยู่อย่างกระจายตัว โดยมีโรงไฟฟ้าเสมือนทำหน้าที่บริหารจัดการไฟฟ้า และการซื้อขายไฟฟ้าในระบบพลังงาน การพัฒนาเทคโนโลยี โรงไฟฟ้าเสมือน ก่อให้เกิดรูปแบบธุรกิจใหม่ และจะช่วยดึงดูดผู้ผลิตไฟฟ้าใหม่เข้ามาในตลาด และทำให้อุตสาหกรรมผลิตไฟฟ้าเกิดการเติบโต

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"