จ.อุบลราชธานี ขึ้นชื่อเรื่องแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่หลากหลายและมีชื่อเสียงในแดนอีสานใต้ บรรดานักท่องเที่ยวต่างหลั่งไหลเข้ามาสัมผัสบรรยากาศ เพื่อไปถึงจุดหมายสุดพิเศษแห่งนี้
ในวันนี้ เราขออาสาพาทุกท่านไปยัง หนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญของ จังหวัดอุบลราชธานี คือ ‘เขื่อนสิรินธร’ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่นอกจากจะให้ประโยชน์ด้านการชลประทานและการเกษตร รวมถึงประโยชน์ในด้านการผลิตไฟฟ้าแล้ว ยังเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสุดฮิต ที่นักท่องเที่ยวมากมายต่างแวะเวียนเข้ามาชมความสวยงาม ของอ่างเก็บน้ำอันกว้างใหญ่ของเขื่อน แต่หลายคนอาจยังไม่รู้ว่า บริเวณรอบ ๆ เขื่อนสิรินธร ยังมีจุดท่องเที่ยวที่สวยงามซ่อนอยู่ รอให้ทุกคนมาค้นพบอีกมากมาย
เตรียมตัวไปปักหมุด 10 จุดเช็คอินรอบเขื่อนสิรินธร ที่ทั้งกิน เที่ยวได้ครบจบในที่เดียว ไปลุยกันเลยยยยยย
♦ โซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด ใหญ่ที่สุดในโลก
ก่อนอื่นขอพาทุกท่านมาเช็คอินที่แลนด์มาร์กแห่งใหม่ของ จ.อุบลราชธานี นั่นก็คือ โรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธร ที่ได้ติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนผืนน้ำอันกว้างใหญ่พื้นที่กว่า 450 ไร่ ซึ่งมีจุดเด่นที่ไม่เหมือนใครอยู่ที่ระบบสามารถผลิตไฟฟ้าได้ทั้งจากพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลัก และเมื่อไม่มีแสงแดดหรือในเวลากลางคืน ก็สามารถนำพลังน้ำจากเขื่อนสิรินธรมาผลิตไฟฟ้าได้ ลดข้อจำกัดของพลังงานหมุนเวียนที่มักขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานอีกด้วย นับว่าเป็นนวัตกรรมไฮบริดสุดล้ำของ กฟผ. ที่แรกของประเทศไทยและยังมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก โดยเตรียมเปิดให้นักท่องเที่ยวทั่วทุกมุมโลกเข้ามาสัมผัสโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมแห่งนี้อย่างใกล้ชิดประมาณกลางปี 2564
♦ เส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway)
หากยังชมความอลังการของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดเขื่อนสิรินธรยังไม่จุใจ ลองมาเปลี่ยนมุมชมความกว้างใหญ่ของโซลาร์เซลล์ลอยน้ำในมุมที่สูงขึ้นไปอีกนิด ตามเส้นทางเดินชมธรรมชาติ (Nature Walkway) ความยาวกว่า 415 เมตร เส้นทางอันร่มรื่นที่รายล้อมไปด้วยมวลหมู่พันธุ์ไม้ท้องถิ่นของจังหวัดอุบลราชธานี ที่จะเปิดให้นักท่องเที่ยวได้เข้ายลโฉมในระยะแรกของเส้นทางชมธรรมชาติ ความยาว 200 เมตร ประมาณปลายปีนี้ ให้ทุกท่านได้ถ่ายรูปสุดอินเทรนด์อวดโลกโซเชียลได้ก่อนใคร หากใครเป็นสายถ่ายภาพอาร์ตๆ รับรองว่าไม่ผิดหวังแน่นอน
♦ สันเขื่อนสิรินธร
แน่นอนว่าหากใครที่มีโอกาสมาเยี่ยมชมความสวยงามของเขื่อนสิรินธรแล้ว ก็ต้องแวะเวียนมาถ่ายภาพกับมุมมหาชนบริเวณสันเขื่อนสิรินธรแห่งนี้ ที่นอกจากจะเห็นมุมของถนนทอดยาวเป็นทางโค้งรับกับมุมกว้างใหญ่ของอ่างเก็บน้ำ ซึ่งมีพื้นที่ประมาณ 288 ตารางกิโลเมตร และยังเห็นวิวภูเขากับท้องฟ้าไกลออกไปสุดลูกหูลูกตา นับเป็นสิ่งดึงดูดใจให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเที่ยวชมและพักผ่อนหย่อนใจไม่ขาดสาย หรือจะมาวิ่งออกกำลังกายสัมผัสบรรยากาศริมเขื่อนก็น่าสนใจไม่น้อย
♦ ผาตั้ง
เปลี่ยนบรรยากาศมาล่องเรือหรือล่องแพในอ่างเก็บน้ำของเขื่อนสิรินธรกันบ้าง ถัดจากโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริด หากล่องเรือมาตามทางของกระแสน้ำจะพบกับหินผาริมน้ำ ที่เป็นจุดแวะพักของเรือแพและยังเป็นจุดวัดใจนักท่องเที่ยวที่ชอบความท้าทายปีนขึ้นไปเพื่อกระโดดลงน้ำในระดับสูงขึ้นไปอีก ทำเอาแอบใจเต้นเล็กน้อยเมื่อได้ไปยืนอยู่บนผา แต่หากใครไม่ชอบความตื่นเต้นก็สามารถแวะพักเล่นน้ำบริเวณเดียวกันได้อย่างจุใจ
♦ วัดป่าโพธิญาณ (วัดเกาะ)
ใครที่เป็นสายบุญ ต้องมาแวะที่วัดป่าโพธิญาณ หรือชุมชนท้องถิ่นนิยมเรียกว่า วัดเกาะหรือวัดเขื่อน ตั้งอยู่ที่บ้านอ่างศิลา ตำบลช่องเม็ก ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธร นอกจากนี้ ยังสร้างอุโบสถยื่นออกไปในอ่างเก็บน้ำเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของวัดแห่งนี้ และในช่วงเช้าพระสงฆ์จะนั่งเรือเพื่อออกไปบิณฑบาตอีกด้วย ภายในบริเวณวัดก็แสนจะสงบและร่มรื่นด้วยทางวัดมีโครงการอนุรักษ์ไม้ยืนต้นนานาชนิด อาจมีเจ้าถิ่นเป็นเจ้าลิงจ๋อตัวเล็กๆ แวะเวียนมาให้เห็นเป็นระยะ มีความเป็นมิตร แต่ไม่สุงสิงกับมนุษย์ และเราก็ไม่ควรให้อาหารน้องลิงด้วยเพราะทางวัดห้ามให้อาหารลิง ส่วนใครสายบุญสามารถเข้ามาเยี่ยมชมกราบสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ มาได้ทั้งทางรถ และทางเรือ หรือแพท่องเที่ยวได้ตามความสะดวกเลย
♦ วัดสิรินธรวรารามภูพร้าว (วัดเรืองแสง)
จุดหมายต่อไป พลาดไม่ได้ที่จะต้องไปชมความมหัศจรรย์ของวัดสิรินธรวรารามภูพร้าว หรือที่นักท่องเที่ยวรู้จักกันดีในชื่อ วัดเรืองแสง ตั้งอยู่ที่ อ.สิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งได้จำลองสภาพแวดล้อมของวัดป่าหิมพานต์หรือเขาไกรลาส มีจุดเด่นอยู่ที่การมาชมภาพเรืองแสงของจิตรกรรมจากภาพต้นกัลปพฤกษ์ที่อยู่บนผนังด้านหลังของอุโบสถในยามค่ำคืน ที่เกิดจากการใช้โมเสกที่มีสารเรืองแสงตกแต่งบริเวณรอบๆ ต้น ซึ่งช่วงเวลาที่เหมาะแก่การมาชมการเรืองแสงของภาพนี้ คือ ตั้งแต่เวลาพระอาทิตย์ตกหรือช่วงเวลาโพล้เพล้เป็นต้นไป ยิ่งท้องฟ้ามืดก็จะยิ่งเห็นการเรืองแสงได้ชัดเจนมากขึ้น เราจะเห็นเหล่าช่างภาพและนักท่องเที่ยวมารอตั้งกล้องถ่ายภาพความมหัศจรรย์แห่งนี้ และบริเวณด้านหลังพระอุโบสถยังเป็นจุดชมวิวที่มองเห็นทิวเขาผ่านเมฆหมอกของฝั่ง สปป.ลาว ได้อย่างใกล้ชิด
♦ บ้านพักรับรองเขื่อนสิรินธร
สำหรับใครที่อยากพักค้างคืนเพื่อสัมผัสกับบรรยากาศธรรมชาติรอบเขื่อนสิรินธร กฟผ. ตื่นเช้ามาชมวิวรอบเขื่อนสูดอากาศบริสุทธิ์ ทางเขื่อนสิรินธรก็มีบ้านพักรับรองให้พักกันได้หลากหลายสไตล์ จำนวนกว่า 140 ห้อง มีทั้งบ้านเดี่ยว 2 – 3 ห้องนอน บ้านแถว บ้านแฝดชั้นเดียว บ้านแฝดสองชั้น จะมากันเป็นครอบครัว คู่รัก หรือมากับแก๊งเพื่อนซี้ก็สามารถเลือกพักผ่อนตามแบบที่ชอบได้ ราคาตั้งแต่คืนละ 1,200 – 3,000 บาท และยังมีที่จอดรถหน้าบ้านพักที่กว้างขวางสะดวกสบายมาก มี wifi ให้บริการทุกห้อง สนใจโทรสำรองที่พักได้ที่เบอร์โทรศัพท์ 045-366085 หรือ 089-2803197
♦ ร้านอาหารเรือนโดมน้อย เขื่อนสิรินธร
หิวกันรึยัง หิวแล้วก็ต้องมาที่นี่เลย ร้านอาหารเรือนโดมน้อย ตั้งอยู่ภายในเขื่อนสิรินธร ร้านอาหารริมอ่างเก็บน้ำ บรรยากาศเย็นสบายเหมาะแก่การรับลมธรรมชาติ ที่นี่เค้าขึ้นชื่อโดยเฉพาะเมนูปลาจากแม่น้ำโขง ไม่ว่าจะเป็นปลาคังผัดฉ่า ฉู่ฉี่ปลาเนื้ออ่อน ต้มยำปลาคัง หรือข้าวต้มปลาคัง หรือเมนูหมูยออุบลที่ขึ้นชื่อ ราคาไม่แพง เรียกได้ว่ามาเขื่อนสิรินธรต้องแวะชิมเมนูปลาของร้านอาหารเรือนโดมน้อยสักครั้ง รับรองว่าเด็ดจริงๆ และยังอิ่มท้อง ราคาสบายกระเป๋าอีกด้วย นอกจากนี้ ร้านอาหารเรือนโดมน้อย ยังรับจัดอาหารว่างหรือบุฟเฟต์สำหรับคณะทัวร์หรือการประชุมสัมมนาได้อีกด้วย โทรศัพท์ติดต่อได้ที่เบอร์ 089-2803197
♦ ร้านกาแฟโดมน้อย (คุณสายชล)
นอกจากอาหารมื้อหลักแล้ว ในบริเวณเขื่อนสิรินธร ก็มีร้านกาแฟโดมน้อย (คุณสายชล) ที่มีเครื่องดื่มไว้ดับกระหายให้กับนักท่องเที่ยวด้วยเมนูหลากหลาย รสชาติดี๊ดี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวของร้าน ทั้งเครื่องดื่มร้อน เครื่องดื่มเย็นหรือปั่น เพื่อเพิ่มความสดชื่น รับประทานคู่กับขนมหรือเค้กแสนอร่อยก็เข้ากั๊นเข้ากัน ราคาไม่แพง แถมยังได้นั่งชมบรรยากาศสุดชิวริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนสิรินธรได้เพลินๆ โดยร้านกาแฟโดมน้อยเปิดให้บริการตั้งแต่ 7.00 – 17.00 น. และมีบริการรับส่งภายในเขื่อนสิรินธรฟรีอีกด้วย
♦ ตลาดโดมน้อย
ติดตามรายละเอียดของแต่ละสถานที่ได้ ที่เว็บไซต์ กฟผ. : http://bit.ly/10-Checkin-Sirindhorn-Dam
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: