ผลสำรวจจาก FICO ชี้ว่า คนไทยยอมรับมาตรการป้องกันความปลอดภัยมากขึ้น หลังจากที่การเปิดบัญชีออนไลน์มีจำนวนเพิ่มขึ้น
อินโฟเควสท์ รายงาน ผลการสำรวจด้านการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลและธนาคารดิจิทัล ของ FICO ที่พบว่า ปัญหาการขโมยตัวตนบนโลกไซเบอร์ เป็นภัยคุกคามที่เด่นชัดของคนไทย โดยผู้ตอบแบบสอบถาม 8.5% ระบุว่า รู้ว่าถูกขโมยตัวตนบนโลกไซเบอร์ และถูกนักต้มตุ๋นนำไปใช้เปิดบัญชี ขณะผู้ตอบแบบสอบถาม 9% เชื่อว่า เหตุการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นกับตัวเองมาแล้ว
การรับรู้ระดับความเสี่ยงของการถูกขโมยตัวตนบนไซเบอร์ จะช่วยให้ผู้บริโภคเกิดความเข้าใจว่า เพราะเหตุใดการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล จึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญของประสบการณ์การทำธุรกรรมในประเทศไทย
ข้อมูลเพิ่มเติมที่ : https://www.fico.com/en/latest-thinking/ebook/thailand-consumer-survey-2021-identity-proofing-and-digital-banking
เข้าใจถึงความจำเป็นในการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคล
ผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 2 ใน 3 (69%) เข้าใจดีว่า กระบวนการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลมีขึ้นเพื่อปกป้องข้อมูลของพวกเขา อย่างไรก็ตาม ผู้บริโภคชาวไทยบางคนมองเหตุผลในการยืนยันตัวตนในแง่ลบ ขณะที่ผู้บริโภคจำนวนมาก (64%) รับทราบว่า มีหลายองค์ประกอบของข้อบังคับต่างๆ ที่ผลักดันให้ผู้ให้บริการต้องเพิ่มการตรวจสอบมากขึ้น ขณะที่ 27% มองว่าการตรวจสอบดังกล่าวเป็นการเปิดทางให้สถาบันการเงินสามารถขายผลิตภัณฑ์ได้มากขึ้น
ผู้ตอบแบบสอบถามคนไทยส่วนใหญ่ (62%) มองว่าการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลเป็นหนึ่งในหนทางที่ธนาคารใช้ปกป้องข้อมูลของธนาคารเอง ขณะที่อีก 44% มองว่ากระบวนการดังกล่าวเป็นเครื่องมือในการป้องกันการฟอกเงิน
ทั้่งนี้ ส่วนใหญ่ยินยอมมอบข้อมูลทางชีวภาพให้แก่ธนาคาร อาทิ การสแกนใบหน้า ลายนิ้วมือ หรือเสียงพูด เพื่อสร้างความปลอดภัยให้บัญชี โดยผลสำรวจ ระบุว่า เมื่อผู้บริโภคเข้าใจถึงความสำคัญ ของกระบวนการตรวจสอบอัตลักษณ์บุคคลแล้ว 41% ยินดีที่จะมอบข้อมูลทางชีวภาพ ขณะที่มีเพียง 7% ที่ระบุว่า ธนาคารไม่ควรเก็บข้อมูลดังกล่าว ส่วน 8% ยินยอมมอบข้อมูลให้แต่ไม่รู้สึกสะดวกใจมากนัก
“ในประเทศภูมิภาคเอเชียหลายประเทศ การสแกนลายนิ้วมือ บัตรประชาชน และแอปพลิเคชันยืนยันตัวตน ถือเป็นเรื่องธรรมดาสามัญมาแล้วระยะหนึ่ง” Subhashish Bose หัวหน้าฝ่ายการตรวจสอบการฉ้อโกง ความมั่นคง และการปฎิบัติตามข้อกำหนดประจำเอเชียแปซิฟิก กล่าว และว่าผู้คนไม่ค่อยตระหนักถึงเรื่องความเป็นส่วนตัว และผลสำรวจระบุว่า ประชาชนยอมรับประโยชน์จากการใช้ข้อมูลทางชีวภาพในการปกป้องบัญชีธนาคารและป้องกันการฟอกเงิน”
ชาวเอเชียครึ่งต่อครึ่งนิยมเปิดบัญชีธนาคารบนสมาร์ทโฟนและธนาคารสาขา
ในประเทศไทย ผู้บริโภค 44% นิยมเปิดบัญชีธนาคารผ่านระบบดิจิทัล และอีก 44% นิยมเปิดบัญชีธนาคารที่สาขา แต่ตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งเกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนไทยกว่า 66% มีแนวโน้มที่จะเปิดบัญชีธนาคารผ่านระบบดิจิทัลมากกว่าปี 2562 ขณะผู้ที่นิยมทำธุรกรรมที่ธนาคารสาขา เลือกทำธุรกรรมที่สาขาด้วยเหตุผลทางสังคมและทางเทคนิค
โดยประชาชนบางกลุ่มยังไม่ทราบว่ามีระบบดังกล่าว หรือไม่เชื่อมั่นในความปลอดภัย
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันแนวคิดของผู้คนได้เปลี่ยนไป และมีหลายคนที่ได้รับรู้ถึงประโยชน์ของธนาคารดิจิทัล ฉะนั้น ธนาคารที่ใช้กลยุทธ์แบบหลายทางและสามารถสร้างความมั่นใจในการใช้งานช่องทางใหม่ๆ ได้ จึงมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น
อย่าบังคับใจลูกค้าให้ทำเรื่องยาก
คนไทยที่เปิดใช้งานบัญชีดิจิทัลนิยมทำธุรกรรมทั้งหมดบนช่องทางที่พวกเขาเลือก ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน หรือเว็บไซต์ หากธนาคารขอให้ลูกค้าเปลี่ยนช่องทางในการยืนยันตัวตน ลูกค้าหลายคนจะตัดสินใจเลิกใช้งานแอปพลิเคชันดังกล่าว หรืออาจยกเลิกการเปิดบัญชีธนาคารทั้งหมด (4-5%) หรืออาจย้ายไปใช้บริการธนาคารคู่แข่ง (7-9%) สำหรับลูกค้าที่ยังไม่ยกเลิกการใช้งานในทันที ผู้ตอบแบบสอบถาม 21% ระบุว่า พวกเขาจะชะลอการตัดสินใจทำธุรกรรมออกไป
ผลการสำรวจพบว่า การกระทำใด ๆ ที่ทำให้การทำธุรกรรมต้องหยุดชะงัก ไม่ว่าจะเป็นการขอให้ลูกค้าสแกนหรือส่งอีเมลเอกสาร หรือการใช้แพลตฟอร์มการยืนยันตัวตนแยกกัน จะทำให้ลูกค้าเลิกใช้งานแอปพลิเคชันเช่นเดียวกันการขอให้พวกเขาเข้าทำธุรกรรมที่สาขาหรือส่งเอกสารทางไปรษณีย์
ผลการสำรวจนี้จัดทำขึ้นในเดือน ม.ค.2564 โดยบริษัทวิจัยอิสระที่ยึดตามมาตรฐานอุตสาหกรรมการวิจัย เพื่อสำรวจความคิดเห็นของคนไทย 1,000 คน รวมถึงผู้บริโภค 13,000 คน ในสหรัฐ, อังกฤษ, แคนาดา, แอฟริกาใต้, ออสเตรเลีย, นิวซีแลนด์, อินโดนีเซีย, มาเลเซีย, ฟิลิปปินส์, เวียดนาม, บราซิล, โคลอมเบีย และเม็กซิโก
FICO (NYSE: FICO) จะหารือเกี่ยวกับผลการสำรวจดังกล่าว ในการสัมมนาออนไลน์ ที่เข้าร่วมชมได้ฟรี กับกิจกรรม Success Realized: Digital Transformation Delivered (APAC) ระหว่างวันที่ 27-29 เม.ย. 2564
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: