“โควิด-19 รอบ 3 มาแบบไม่ทันตั้งตัว โรงพยาบาลก็ปรับตัวไม่ทัน ตู้ตรวจโควิดช่วยทำให้บุคลากรทางการแพทย์มีความมั่นใจในการตรวจคัดกรองหาเชื้อให้กับผู้ป่วยแบบไม่มีความเสี่ยง”
คำบอกเล่าส่วนหนึ่งจาก พ.อ.ณัฏฐ์พฤทธ์ ชัชชัยวรกฤศ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายวิภาวดีรังสิต จ.สุราษฎร์ธานี สะท้อนถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ทวีความรุนแรงและขยายวงกว้าง ทำให้บุคลากรทางการแพทย์ซึ่งเป็นด่านหน้าในการต่อสู้กับเชื้อโควิด-19 ต้องเผชิญความเสี่ยงรอบด้านอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ตู้ตรวจโควิดสำหรับตรวจหาเชื้อในกลุ่มผู้ที่เข้าข่ายเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญที่จะช่วยเฝ้าระวังการแพร่ระบาด จึงมีความจำเป็นอย่างมากต่อการปกป้องบุคลากรทางการแพทย์ในขณะนี้
‘ตู้ตรวจโควิด’ เป็นนวัตกรรมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) พัฒนาขึ้นภายใต้การดูแลมาตรฐานจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญอย่าง นพ.อนวัช เสริมสวรรค์ รองคณบดีคณะแพทยศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เพื่อให้ได้ตู้ตรวจโควิดที่มีคุณภาพ ช่วยลดความเสี่ยงในการสัมผัสสารคัดหลั่งและจำกัดพื้นที่การฟุ้งกระจายสารคัดหลั่งของผู้ที่เข้ามารับบริการตรวจหาเชื้อ
ข่าวน่าสนใจ:
กฟผ. ส่งมอบตู้ตรวจโควิดพร้อมอุปกรณ์จำเป็นให้กับกรมการแพทย์ กระรวงสาธารณสุข
ทพญ.ศรัญญา จิรธนานันท์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านกิจกรรมพิเศษโรงพยาบาลพระนั่งเกล้า อธิบายเพิ่มเติมว่า การตรวจหาเชื้อโควิด-19 โดยใช้เครื่องมือเก็บสารคัดหลั่งต้องกวาดโพรงจมูกและคอซึ่งอาจเกิดอาการระคายเคืองส่งผลให้มีอาการไอหรือจามทำให้เชื้อมีโอกาสกระจายมายังเจ้าหน้าที่ได้ แต่เมื่ออยู่ภายในตู้ตรวจโควิดก็ทำให้เจ้าหน้าที่ปลอดภัย และยังสามารถลดการใช้ชุดป้องกันเพื่อนำไปใช้ในกรณีจำเป็นจริง ๆ ซึ่งช่วยประหยัดอุปกรณ์ทางการแพทย์ได้อีกทางหนึ่งด้วย
เช่นเดียวกับ พญ.ปริยสุทธิ์ อินทสุวรรณ นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ โรงพยาบาลสิรินธร จ.ขอนแก่น ก็ระบุว่า ตู้ตรวจโควิดทำให้โรงพยาบาลสามารถให้บริการทางการแพทย์กับประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ด้านบุคลากรทางการแพทย์ก็มีความมั่นใจถึงความปลอดภัยและสามารถช่วยเหลือประชาชนได้อย่างเต็มที่
ตู้ตรวจโควิดถูกออกแบบเป็นลักษณะสี่เหลี่ยมทรงสูง ขนาดกว้าง 1 เมตร ยาว 1 เมตร และสูง 2 เมตร ผลิตจากแผ่นอะคริลิกใส หนา 6 มิลลิเมตร ซึ่งเป็นขนาดและความหนาที่ศึกษาแล้วว่ามีความแข็งแรงต่อการใช้งานและสามารถเคลื่อนย้ายได้สะดวก ภายในตู้มีช่องถุงมือปิดซีลอย่างมิดชิดเพื่อใช้เก็บสารคัดหลั่งของผู้เข้ารับการตรวจคัดกรอง โดยตู้ตรวจโควิดที่เป็นชนิดความดันบวก บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ในตู้ เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ที่เข้ารับการตรวจคัดกรองแพร่กระจายเชื้อสู่บุคลากรทางการแพทย์
ส่วนตู้ตรวจโควิดที่เป็นชนิดความดันลบ บุคลากรทางการแพทย์จะปฏิบัติหน้าที่อยู่ด้านนอกเพื่อไม่ให้เชื้อไวรัสจากผู้เข้ารับการตรวจคัดกรองสามารถแพร่กระจายออกมาในอากาศได้ โดยมีชุดควบคุมแรงดันอากาศ (Filter Box) ทำหน้าที่ดูดอากาศผ่านชุดกรองฆ่าเชื้อ (Hepa) และฆ่าเชื้อด้วยรังสี UVC เพื่อกรองอากาศและฆ่าเชื้อโรคก่อนปล่อยอากาศออกสู่ภายนอก
ตู้ตรวจโควิดนี้มีโรงพยาบาลขอมาเป็นจำนวนมาก จิตอาสา กฟผ. จึงได้ร่วมกันผลิตสู้กันอย่างเต็มกำลังเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการของโรงพยาบาลต่างๆ นับตั้งแต่ที่มีการระบาดของโควิด 19 ตู้ตรวจโควิดกว่า 500 ตู้ กระจายอยู่ตามโรงพยาบาลต่างๆ ทั่วประเทศ เพื่อช่วยเหลือการทำงานของบุคลากรทางการแพทย์และคนไทยทุกคน หากโรงพยาบาลใดมีความจำเป็นต้องใช้ตู้ตรวจโควิดก็สามารถติดต่อมาได้ที่ผู้อำนวยการฝ่ายแพทย์และอนามัย กฟผ. ทางอีเมล [email protected] โดย กฟผ. จะพิจารณาจัดสรรตามความเหมาะสมและเร่งดำเนินการอย่างสุดกำลังความสามารถ
ไม่มีใครรู้ว่ามหาวิกฤตโควิด-19 ที่ทำร้ายมวลมนุษยชาติทั้งโลกจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่อย่างน้อย “ตู้ตรวจโควิด” จะเป็นอีกหนึ่งพลังจากใจ กฟผ. เพื่อช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ปลอดภัย ร่วมเคียงข้างคนไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: