กรุงเทพฯ – เปิดโมเดลชุมชนจัดการตนเองจากเหตุโควิด-19 ระบาดชุมชนคลองเตย ตัดวงจรระบาด-จัดระบบส่งต่อ-ดูแลครัวเรือน-เฝ้าระวังผู้ที่หายป่วย ชี้ ต้องเร่งถอดบทเรียน ขยายต้นแบบไปสู่พื้นที่อื่น
ในการเสวนาออนไลน์ ‘โควิด-19 รุกคลองเตย : ช่วยชีวิต ปิดจุดเสี่ยงง’ เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดในพื้นที่คลองเตย กรุงเทพมหานคร พร้อมถอดบทเรียนระบบการจัดการวิกฤตสุขภาพโดยชุมชน โดยสำนักข่าวไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 4 พ.ค.2564
น.ส.เพ็ญวดี แสดงจันทร์ ผู้จัดการมูลนิธิดวงประทีป ระบุว่า ชุมชนคลองเตยได้รับการสนับสนุนจากภาคีเครือข่ายจำนวนมาก มีทั้งเจ้าหน้าที่รัฐ บุคลากรทางการแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ฯลฯ เข้ามาช่วยเหลือ ทำให้เจ้าหน้าที่ในชุมชนมีกำลังใจในการทำงานเป็นอย่างมาก โดยร่วมกันมีการจัดตั้ง ‘ศูนย์พักคอยรอการส่งต่อ’ ที่วัดสะพาน เพื่อแยกผู้ที่ติดเชื้อจากครัวเรือนออกมาให้การดูแล และประสานหาเตียง ศูนย์นี้รองรับผู้ป่วยได้ประมาณ 50 คน เจ้าหน้าที่สามารถประสานเตียงให้ได้ภายใน 24 ชั่วโมง
ด้าน นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท สำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า บทบาทสำคัญของศูนย์พักคอยฯ มี 2 ประการ ได้แก่ 1.การตัดวงจรการระบาดในชุมชน ด้วยการแยกตัวผู้ติดเชื้อออกมาดูแลที่ศูนย์พักคอยฯ 2.การอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยจำนวนมากออกจากชุมชนไปยังโรงพยาบาล ซึ่งรถพยาบาลหรือรถขนาดใหญ่สามารถเข้ามารับที่ศูนย์ฯ ได้ทันที
อย่างไรก็ตาม ด้วยบริบทของคลองเตยมีความสลับซับซ้อนมาก ฉะนั้น การจัดการจำเป็นต้องครอบคลุม 4 มิติ คือ 1.กลุ่มผู้ที่ติดเชื้อ ซึ่งชุมชนได้วางระบบการส่งตัวออกมายังศูนย์พักคอยฯ เพื่อตัดวงจรการระบาด และวางระบบการประสานโรงพยาบาลไว้แล้ว 2.กลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ตรงนี้ต้องทำให้เกิด “การควบคุมพื้นที่โดยชุมชน” เพื่อจำกัดการเคลื่อนที่ในชุมชน โดยใช้คอนเซ็ปต์ Community Quarantine (CQ) 3.ผู้ที่ยังอยู่ในชุมชน จำเป็นต้องดูและทั้งการแพทย์ การป้องกันโรค อาหาร อาชีพ ฯลฯ และ 4.ผู้ป่วยที่กลับมาจากโรงพยาบาล
นพ.ปรีดา แต้อารักษ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยกลับจากการรักษาที่โรงพยาบาล อาจมีหลายกรณีที่ผู้ป่วยยังไม่สะดวกหรือไม่สามารถกลับเข้าไปบ้านได้ทันที จำเป็นต้องมี ‘ศูนย์พักฟื้นชุมชน’ ขึ้นมาทำหน้าที่ดูแลผู้ป่วยหลังได้รับการรักษาต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากคลองเตยโมเดล เราจะเห็นได้ว่ามีแนวคิดที่ชัดเจนแล้วว่า 1.ในทางการแพทย์เราต้องการตัดวงจรการระบาด แต่การตัดวงจรให้สำเร็จได้นั้น ยังต้องอาศัยภาคสังคมเข้ามามีส่วนร่วมด้วย 2.แม้ในบางพื้นที่จะยังไม่มีเคสผู้ป่วย แต่ก็ได้รับผลกระทบทางสังคมไปแล้ว ฉะนั้นการช่วยเหลืออย่างรอบด้านจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำควบคู่กันไป
“สิ่งที่จำเป็นต้องทำต่อจากนี้ คือ การสรุปบทเรียนของคลองเตยโมเดลให้เร็วที่สุด จากนั้นก็ขยายโมเดลต้นแบบนี้ออกไปในพื้นที่ต่างๆ โดยผู้ที่มีความสำคัญในการจัดการคือคณะกรรมการชุมชน ที่ต้องดูแลใน 4 ด้าน คือ ประสานทางการแพทย์ ประสานอาหาร ประสานอาชีพ และประสานการสื่อสารเพื่อทำความเข้าใจกับชุมชน ที่สำคัญคือภาครัฐต้องหนุนช่วย โดยเฉพาะการปรับแก้ระเบียบของภาครัฐ เพื่อเปิดช่องให้ชุมชนได้มีส่วนจัดการตัวเอง และเข้ามาเชื่อมต่อกับภาครัฐในการทำงานร่วมกันต่อไป” นพ.ปรีดา กล่าว
สลัมสี่ภาค-เครือข่ายบ้านมั่นคง วอนช่วยเหลือคนจนที่ได้รับผลกระทบ เสนอพักหนี้บ้าน ขอการสนับสนุนอาหาร-อุปกรณ์ป้องกันโรค
น.ส.วรรณา แก้วชาติ เครือข่ายสลัมสี่ภาค บอกว่า สถานการณ์ในพื้นที่อื่นๆ ที่เครือข่ายทำงาน แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะไม่รุนแรงเท่าคลองเตย แต่ด้านอื่นๆ ก็มีความคล้ายคลึงกัน เช่น สมาชิกในชุมชนตกงาน ขาดรายได้ ขาดอาหาร อุปกรณ์ป้องกันโรคมีไม่เพียงพอ แต่ถ้าพูดในแง่ของความเดือดร้อนที่ต้องการการสนับสนุน คือการแบ่งเบาหนี้สิน การพักชำระหนี้ โดยเฉพาะค่าบ้าน-ค่าที่ดิน เช่น โครงการบ้านมั่นคงในขณะนี้ก็มีการเจรจาเพื่อขอพักชำระหนี้อยู่
“นอกจากเรื่องพักชำระหนี้แล้ว สมาชิกในเครือข่ายอยากได้รับการสนับสนุนเรื่องการส่งเสริมป้องกันโรค การคัดกรองโรค วัคซีน ซึ่งจำเป็นต้องเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่มีบัตรประชาชน หรือไม่มีบัตรประชาชนก็ตาม เพราะจะช่วยให้คนทั้งประเทศปลอดภัย” น.ส.วรรณา กล่าว
นางจันทิมา ลังประเสริฐ เครือข่ายบ้านมั่นคง เปิดเผยว่า สมาชิกเครือข่ายบ้านมั่นคงทั่วประเทศมีมากกว่า 400 กลุ่ม ผ่านการระบาดระลอก 1 และ 2 โดยมีผู้ติดเชื้อเลย แต่รอบปัจจุบันพบผู้ติดเชื้อแล้ว ตอนแรกผู้ติดเชื้อตื่นตระหนักกันมาก อย่างไรก็ตาม ขณะนี้เครือข่ายได้ปรับตัวและมีระบบให้ความช่วยเหลือกัน แต่ด้วยทุกคนเป็นผู้มีรายได้น้อย เป็นคนยากจน จึงสายป่านสั้น เงินกองกลางของเครือข่ายที่มีอยู่ก็มีไม่มาก ฉะนั้นการดูแลผู้ที่กักตัว ผู้ที่กลับมาจากโรงพยาบาล จึงต้องการการสนับสนุน โดยเฉพาะเรื่องวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหาร ยารักษาโรคเบื้องต้น รวมทั้งเจลล้างมือ หน้ากากอนามัย ฯลฯ ที่สำคัญคือการสนับสนุนองค์ความรู้ในการตั้งศูนย์ในชุมชนเพื่อดูแลผู้กลับมาจากโรงพยาบาล
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: