กรุงเทพฯ – เลขาฯ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดรายละเอียดการนำเข้าวัคซีนทางเลือก ‘ซิโนฟาร์ม’ ไม่ฟรี! แต่ทำเพื่อประชาชน ไม่เน้นกำไร พร้อมคุมเข้มการจัดสรร
วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ร่วมกันแถลงข่าว บูรณาการความร่วมมือแนวทางการจัดสรรและนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก “ซิโนฟาร์ม”
โดย ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เล็งเห็นความสำคัญในการบริหารจัดการ ป้องกัน ควบคุม และยับยั้งการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างมีประสิทธิภาพ ด้วยความร่วมมือของทุกฝ่าย ซึ่งก่อนหน้านี้ ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้รับความเห็นชอบจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นตัวแทนของรัฐบาลไทย ในการจัดหาและนำเข้าวัคซีนทางเลือกเพิ่มเติม เพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงและได้รับวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันได้เร็วที่สุด
ความร่วมมือในการนำเข้าวัคซีนโควิดทางเลือก ‘ซิโนฟาร์ม’ ระหว่างราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กระทรวงสาธารณสุข และ อย. มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริม สนับสนุน และประสานความร่วมมือ เพื่อให้การกระจายวัคซีนในสถานการณ์ฉุกเฉินเป็นไปอย่างทั่วถึง ซึ่งวัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ให้การรับรองแล้ว และราชวิทยาลัยฯ มอบหมายให้ บริษัท ไบโอจีนีเทค จำกัด ยื่นเอกสารกับ อย. ซึ่งล่าสุดได้รับการอนุมัติแล้ว จึงสามารถนำเข้าและบริหารจัดสรรวัคซีนซิโนฟาร์มได้
ข่าวน่าสนใจ:
- สจ.เปี๊ยกไม่ปลื้ม นายกไก่เปลี่ยนใจยอมสยบฉายแสง สุดท้ายกลายเป็นมาให้กำลังใจ
- กกต.ตรัง พร้อมเปิดสนาม จัดเลือกตั้งอบจ. เปิดยิม 4,000 ที่นั่งรับสมัคร พื้นที่กว้างขวางรองรับกองเชียร์ผอ.กกต.ตรัง เผยการข่าวพบ 3…
- เปิดพร่องระบายน้ำเพื่อเร่งไหลลงทะเล รับมืออีกระลอก
- จังหวัดชัยนาทเชิญชวนเที่ยวงาน เขื่อนเจ้าพระยารำลึก ครบรอบ 68 ปี 20-24 ธ.ค.นี้
ส่วนการกระจายวัคซีนนั้น ศ.นพ.นิธิ ระบุว่า ได้หารือร่วมกับ กระทรวงสาธารณสุข ถึงการจัดสรรให้แก่หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน ที่สนใจจะจัดซื้อพร้อมประกันวัคซีน สำหรับราคาขายจะต้องประเมินก่อน ทั้งปริมาณสั่งซื้อ รวมค่าประกัน ค่าขนส่ง และจัดเก็บ แต่จะขายในราคาเดียวกันทั้งประเทศ และจะต้องควบคุมราคา เพราะเน้นทำเพื่อประชาชน ไม่ได้หวังผลกำไร และควบคุมการจัดสรรอย่างเข้มงวด เพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ และต้องรายงานไปยังผู้ผลิตด้วย เบื้องต้น จะนำเข้าล็อตแรก ประมาณ 1 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน 64 นี้
ทั้งนี้ ขณะนี้มีสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่ติดต่อเข้ามาเพื่อขอรับการจัดสรรวัคซีนแล้ว นอกจากนี้ ยังมีรายอื่น ๆ อีก แต่อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนสถานที่ฉีดนั้น ถ้าเป็นที่จุฬาภรณ์จะต้องแยกให้ชัดเจน เพราะเป็นคนละส่วนกับที่รัฐจัดหาให้
เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กล่าวด้วยว่า วัคซีนซิโนฟาร์ม เป็นวัคซีนชนิดเชื้อตาย เช่นเดียวกับ ซิโนแวคและโควาซิน ได้รับการอนุมัติจากองค์การอนามัยโลก สามารถฉีดได้ตั้งแต่กลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไปจนถึงผู้สูงอายุ โดยไม่มีข้อบ่งชี้ที่จำกัดเรื่องอายุ ถูกนำมาใช้กว่า 65 ล้านโดส ในประเทศจีน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ปากีสถาน และฮังการี
เป็นวัคซีนชนิดแรกที่พัฒนาโดยประเทศที่ไม่ใช่ชาติตะวันตก ที่ได้รับการรับรองให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินจาก WHO เป็นรายที่ 6 มีประสิทธิภาพ 79% สำหรับกลุ่มผู้มีอายุ 18 ปีขึ้นไป จัดเก็บง่าย ไม่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิต่ำมากเหมือนวัคซีนอื่น
ด้าน นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการ อย. กล่าวเสริมว่า อย. เพิ่งอนุมัติขึ้นทะเบียนเป็นตัวที่ 5 ของไทย ในวันนี้ เป็นชนิดเชื้อตาย กำหนดฉีด 2 เข็ม ระยะห่างกัน 21-28 วัน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: