กรุงเทพฯ – หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์ นำตัวแทนผู้ประกอบการร้านอาหาร หารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ถึงแนวทางการเข้าถึงสินเชื่อ ฝ่าวิกฤตโควิด-19
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พร้อมด้วย นางดรุณวรรณ ชาญพิพัฒนชัย รองโฆษกพรรค นำตัวแทนผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) อาทิ นางฐนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย, นายประวิทย์ จิตนราพงศ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แบล็คแคนยอน (ประเทศไทย) จำกัด, นายชุมพล แจ้งไพร อุปนายกสมาคมเชฟแห่งประเทศไทย เข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เพื่อหารือถึงแนวทางการช่วยเหลือร้านอาหาร ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม หลังได้รับผลกระทบหนักจากวิกฤตโควิด-19 สานต่อเจตนารมณ์ของ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ ระบุว่า อุตสาหกรรมร้านอาหารเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและเชื่อมไปถึงสินค้าเกษตร ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาลอย่างเป็นรูปธรรม ผู้ประกอบการจำนวนมากประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน โดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม หรือเอสเอ็มอี ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ และนโยบายการช่วยเหลือจากภาครัฐ เช่น มาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft Loan) ของธนาคารแห่งประเทศไทย การเจรจาพักเงินต้น พักดอกเบี้ยสินเชื่อได้ เนื่องจากกฎเกณฑ์ผู้ขอสินเชื่อที่กำหนด ไม่สอดคล้องกับภาวะวิกฤต
ที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้จัดทำโครงการบรรเทาความเดือดร้อนของธุรกิจร้านอาหารอย่างต่อเนื่อง ทั้งโครงการพาณิชย์ลดราคา ช่วยประชาชน ที่ได้ร่วมมือกับแพลตฟอร์มธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี่ ลดค่า GP เหลือ 25% รวมถึงโครงการเชื่อมโยงสถาบันการเงินกับผู้ประกอบการร้านอาหาร และวันที่ 7 มิ.ย.64 นี้ กระทรวงพาณิชย์จะเปิดตัวโครงการใหม่ ‘จับคู่กู้เงิน’ จัดหาสถาบันการเงินมาปล่อยกู้ให้กับร้านอาหารเป็นกรณีพิเศษ ดอกเบี้ยต่ำ และบางกรณีไม่มีหลักทรัพย์ค้ำ ซึ่งจะทำให้ร้านอาหารเข้าถึงสถาบันการเงิน ช่วยต่อลมหายใจให้ผู้ประกอบการร้านอาหารทั่วประเทศกว่าแสนร้าน ซึ่งทีมเศรษฐกิจทันสมัย ปชป. ยังได้ลงพื้นที่รับฟังปัญหาความเดือดร้อนและความต้องการของผู้ประกอบการร้านอาหาร เพื่อส่งต่อข้อมูลไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดทำมาตรการความช่วยเหลือที่เหมาะสมต่อไป
หัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัยพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ เนื่องจากติดเงื่อนไขประวัติหนี้เสียจากเข้าโครงการพักชำระหนี้ การเดินบัญชี(เสตทเม้นท์) ไม่เข้าเงื่อนไขการขอสินเชื่อ เพราะไม่มีการเดินบัญชีในช่วงวิกฤตโควิด ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน เพราะส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เช่า รวมทั้งสถาบันการเงินมักจะพิจารณาลูกค้าตัวเองเป็นหลัก และเป็นลูกค้าชั้นดีที่มีศักยภาพในการประคับประคองกิจการอยู่ ทำให้เอสเอ็มอีเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งจะก่อให้เกิดวิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ตามมา เพราะธุรกิจร้านอาหารเกี่ยวเนื่องกับหลายภาคส่วน หากร้านอาหารจำนวนมากต้องปิดตัวลง จะทำให้หลายธุรกิจล้มตามกันไปทั้งกระดาน
ข่าวน่าสนใจ:
- รมว.ท่องเที่ยว ชวนลอยกระทง "สีสันแห่งสายน้ำฯ" สร้างสรรค์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
- วธ.จัด“ลอยกระทงวิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” น้อง“หมูเด้ง” Thai Cuteness ร่วมสร้างสีสัน
- "รัฐสภา" ร่วมสนับสนุนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร”
- ทีดีอาร์ไอ จัดเวิร์คชอป “ CONTENT CREATOR WORKSHOP: SYNERGY FOR CLEAN ENERGY”
ทั้งนี้ มีข้อเสนอถึงกระทรวงการคลัง คือ ให้ภาครัฐออกมาตรการพักชำระ ต้น-ดอก 6 เดือนถึง 1 ปี โดยรัฐบาลจ่ายดอกเบี้ยแก่ธนาคารแทนผู้ประกอบการ ขอให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการขอกู้วงเงินเดิมที่ธนาคารของรัฐยังคงมีเหลือให้เหมาะสมกับ สถานการณ์วิกฤต เช่น กำหนดอัตราดอกเบี้ยต่ำ ผ่อน 3-5 ปี ใช้บสย.ค้ำประกันโดยไม่ต้องใช้หลักทรัพย์จำนอง และใช้ฐานการเสียภาษีตามแบบแสดงรายได้ ภงด.90 สำหรับผู้ประกอบการแบบบุคคล และภงด. 50 สำหรับนิติบุคคล เป็นต้น ขอแบ่งวงเงินตามมาตรการพักทรัพย์พักหนี้จำนวน 2 หมื่นล้าน ให้สิทธิกับผู้ประกอบการร้านอาหารที่มีสถานประกอบการเป็นของตัวเอง จัดตั้งกองทุนฟื้นฟูสนับสนุนกิจการร้านอาหาร เพื่อป้องกันการเกิดวิกฤตอีกในอนาคต
“เชื่อว่าในสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 การช่วยกันคนละไม้คนละมือ ทั้งภาครัฐ เอกชน และรัฐวิสาหกิจ เป็นวิธีที่ดีที่สุดที่จะช่วยต่อลมหายใจให้ธุรกิจร้านอาหารอยู่รอดและเข้มแข็งขึ้น ซึ่งมูลนิธิเสนีย์ ปราโมช มีแนวทางจัดซื้อข้าวกล่องจากร้านอาหารชุมชน เพื่อไปแจกให้ครอบครัวผู้กักตัว เป็นอีกช่องทางหนึ่งในการสนับสนุนร้านชุมชนและช่วยแก้ปัญหาปากท้อง” นายปริญญ์กล่าว
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ยินดีรับปัญหาความเดือดร้อนดังกล่าวไว้ เพื่อหารือกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการร้านอาหารเข้าถึงสินเชื่อ ไม่ต้องกังวล เพราะธุรกิจร้านอาหารเป็นหนึ่งในธุรกิจเอสเอ็มอีประเภทท่องเที่ยว ที่รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลืออยู่แล้ว และกระทรวงการคลังเข้าใจปัญหาดี จะพยายามทำในขอบเขตความสามารถที่ทำได้ให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม งานด้านนโยบายเป็นสิ่งที่กระทรวงการคลังไม่สามารถทำคนเดียวได้ ต้องหารือกับหลายฝ่าย และต้องใช้เวลา
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: