กรุงเทพฯ – ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่หลักเกณฑ์เปรียบเทียบปรับ ความผิดไม่สวม ‘หน้ากากอนามัย-หน้ากากผ้า’ ปรับ 3 ระดับ ครั้งแรก 1,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับมากกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ปรับมากกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ระเบียบ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิดกรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อตามมาตรา 34 (6) แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 ในสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 พ.ศ.2564
โดยระบุมาตรการป้องกันควบคุมโรคโควิด-19 ที่สำคัญ คือ การให้ประชาชนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้า เพื่อลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ และป้องกันมิให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะ และจำกัดวงในการระบาดของโรคโควิด-19
โดยสรุปว่า เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและไม่เป็นภาระแก่ประชาชนเกินควร และเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่ ของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จึงสมควรกำหนดหลักเกณฑ์การเปรียบเทียบความผิด กรณีฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งไว้เป็นการเฉพาะ ซึ่งหากสถานกาณณ์การระบาดของโควิดสงบลงหรือมีเหตุอันสมควรหรือได้มีการยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 แล้ว เห็นควรให้ยกเลิกระเบียบนี้ ดังนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- สูงวัยตรัง ปลื้ม เตรียมตัวรับเงินหมื่น ฝันใช้ยามแก่-ต่อยอดอาชีพบั้นปลาย
- พิธีมอบกรรมสิทธิ์และไถ่ชีวิตโค-กระบือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
- ชาวนาเผยต้นทุนการทำนาสูงแถมข้าวยังคงราคาตกต่ำอยากให้ทางรัฐบาลช่วยเหลือ
- ชวนชิม 'ศรีบุญเรือน' ร้านข้าวต้มต้นตำรับ สืบทอดสามรุ่น เสน่ห์ร้านข้าวต้มยามค่ำคืน ที่รวมอาหารจีน อาหารเหลา อาหารใต้ไว้ในร้านเดียว
1.กรณีพิจารณาแล้วเห็นว่าสมควรให้มีการเปรียบเทียบ ให้เรียกหรือแจ้งให้ผู้ต้องหามารับทราบข้อหาในการกระทำความผิด วัน เวลา และสถานที่เกิดเหตุ พร้อมชี้แจงให้เข้าใจถึงความผิด โดยกรณีผู้ต้องหารับสารภาพและยินยอมให้มีการเปรียบเทียบ ให้กำหนดจำนวนเงินค่าปรับที่ต้องพึงชำระ
โดยครั้งที่ 1 ปรับไม่เกิน 1,000 บาท ครั้งที่ 2 ปรับมากกว่า 1,000 บาท แต่ไม่เกิน 10,000 บาท และครั้งที่ 3 เป็นต้นไป ปรับมากกว่า 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 20,000 บาท
ส่วนกรณีผู้ต้องหาไม่ยินยอมให้เปรียบเทียบ หรือยินยอมให้เปรียบเทียบแต่ไม่ชำระค่าปรับภายในระยะเวลา 30 วัน นับแต่วันที่มีการเปรียบเทียบ ให้ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อเพื่อส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
2.กรณีพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่สมควรให้มีการเปรียบเทียบ เนื่องจากเป็นการกระทำความผิดซ้ำซากหรือกระทำความผิดติดนิสัย หรือกระทำความผิดนั้นก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ชีวิตหรือร่างกายของประชาชน หรือเป็นการกระทำที่ก่อหรืออาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อความปลอดภัยต่อสาธารณะหรือประโยชน์สาธารณะ ให้ส่งเรื่องให้เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ เพื่อส่งเรื่องให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีต่อไป
3.กรณีพิจารณาแล้วเห็นว่าไม่เป็นความผิดให้สั่งยุติเรื่อง
สำหรับผู้มีอำนาจเปรียบเทียบ หมายถึง อธิบดีกรมควบคุมโรค หรือผู้ซึ่งอธิบดีกกรมควบคุมโรค มอบหมายให้มีอำนาจเปรียบเทียบบรรดาความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว หรือมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ทั้งนี้ ให้อธิบดีกรมควบคุมโรครักษาการตามระเบียบนี้ กรณีมีปัญหาเกี่ยวกับการดำเนินการตามระเบียบให้เป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด และให้คำสั่งหรือข้อวินิจฉัยถือเป็นที่สุดโดยระเบียบฉบับนี้
ประกาศ ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2564
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ในฐานะประธานกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ
มีผลตั้งแต่วันนี้ (8 มิถุนายน 2564) เป็นต้นไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: