กรุงเทพฯ – แกนนำและลูกพรรคประชาธิปัตย์ นำผู้ประกอบการธุรกิจกลางคืน-บันเทิง-อาชีพอิสระ ยื่นหนังสือถึงประธานรัฐสภา เพื่อเป็นอีกช่องทางในการหามาตรการช่วยเหลือ หลังเจอวิกฤตโควิด-19 แต่ไร้การเหลียวแล
วันที่ 17 มิถุนายน 2564 นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ พร้อมด้วย นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ และ ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ นำตัวแทนสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง ยื่นจดหมายเปิดผนึกถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ถึงผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 พร้อมหารือถึงแนวทางการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน และมาตรการการเปิดประเทศ ผ่านนายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ เปิดเผยว่า ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืน-บันเทิง และอาชีพอิสระ เป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบหนัก จากการถูกสั่งปิดตามมาตรการรัฐบาลนานกว่า 200 วัน แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ เพราะความเดือดร้อนไปไม่ถึงผู้มีอำนาจ จึงอาสาเป็นผู้เชื่อมโยงระหว่าง 3 กลไกหลัก คือ ฝ่ายนิติบัญญัติ (รัฐสภา) ฝ่ายบริหาร (ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19, กระทรวงสาธารณสุข) และฝ่ายพรรคการเมือง (พรรคประชาธิปัตย์)
ผลักดันคำร้องของผู้ได้รับผลกระทบ ที่รวบรวมมาทั้งหมดให้ไปถึงผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อให้รัฐบาลนำงบประมาณมาจัดทำมาตราการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที เป็นธรรม ทั้งด้านการฟื้นฟู เยียวยาเศรษฐกิจ รวมถึงบริหารจัดการวัคซีน เพื่อทำให้ชีวิตประชาชนกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และมีมาตรการช่วยเหลือที่สอดคล้องกับการเปิดประเทศภายใน 120 วันข้างหน้า
นายปริญญ์ กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมา ได้นำตัวแทนสมาพันธ์ฯ ยื่นจดหมายเปิดผนึกข้อเรียกร้องถึง พลเอกณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส 2019 หรือ โควิด-19 (ผอ.ศปก.ศบค.) และนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ไปแล้ว ส่วนวันนี้ เป็นการยื่นจดหมายถึงรัฐสภา เพื่อให้ครบทั้ง 3 กลไกสำคัญตามที่ตั้งใจ
ด้านนายนนทเดช บูรณะสิทธิพร และนายธัญญ์นิธิ ปภัสสุรีย์โชติ ตัวแทนจากสมาพันธ์ผู้ประกอบอาชีพธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง กล่าวสอดคล้องกันว่า เข้าใจดีว่าสถานการณ์วิกฤต-19 ได้สร้างความเสียหายต่อประเทศไทยอย่างไรบ้าง และได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการปิดกิจการชั่วคราวมาโดยตลอด แต่ที่ผ่านมา ยังไม่เคยได้รับการเยียวยาที่ตรงจุด ทั้ง ๆ ที่ทำธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย จ่ายภาษีครบถ้วน ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องทางการเงิน หลายธุรกิจต้องเลิกกิจการ ส่วนพนักงานและผู้ประกอบอาชีพอิสระตกงาน ขาดรายได้นานกว่า 200 วัน และยังไม่ได้รับการเยียวยาอย่างตรงจุด
การที่เศรษฐกิจจะขับเคลื่อนต่อไปได้นั้น เราเชื่อว่าจำเป็นต้องมีทั้งธุรกิจภาคกลางวันและภาคกลางคืน ดังนั้น หลังจากที่นายปริญญ์ ได้นำสมาพันธ์ฯ เข้าพบ ศบค.แล้ว จึงได้รวบรวมคำร้องและข้อเสนอแนะฉบับล่าสุด มายื่นต่อรัฐสภา ด้วยประเด็นหลัก ดังนี้
1.ขอให้ภาครัฐดูแลธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง เช่นเดียวกับธุรกิจร้านอาหาร โดยยกเลิกคำสั่งปิดสถานบันเทิงแบบเหมารวม ให้ปิดเฉพาะสถานบันเทิงที่พบผู้ติดเชื้อหรืออยู่ในพื้นที่เสี่ยงเป็นเวลา 14 วันเท่านั้น ผ่อนปรนให้สามารถขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อบริโภคในร้านได้ เปิดโอกาสให้เอกชนหรือประชาชนในกลุ่มภาคธุรกิจที่ได้รับความเดือดร้อน เข้าร่วมรับฟังและเสนอแนะ รวมถึงเปิดช่องทางการสื่อสาร เพื่อรับฟังความคิดเห็นและความต้องการประชาชน ก่อนที่ทางรัฐบาลจะออกมาตรการต่าง ๆ
2.ปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ให้ทั่วถึง ชัดเจน และเป็นธรรม อาทิ ผ่อนปรนให้มีการจัดมหรสพได้ทุกประเภท ภายใต้เงื่อนไขการควบคุมจัดการโรคขั้นสูงสุด เช่น จัดที่นั่งแบบ 2 เว้น 1 จำกัดจำนวนผู้เข้าชมงาน ผู้เข้าชมต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 อย่างน้อย 7 วันแล้วเท่านั้น เป็นต้น พิจารณาการจัดสรรฉีดวัคซีนให้แก่ผู้ประกอบการ ผู้ให้บริการ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงโดยเร็วที่สุด พิจารณาให้มีนโยบายที่ชัดเจนเรื่องการเยียวยา พักชำระหนี้ และการกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำ เพื่อรักษาสภาพคล่องทางธุรกิจและการจ้างพนักงานจากการปิดธุรกิจชั่วคราว เพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินทุน Soft Loan ให้แก่ผู้ประกอบการรายย่อย และช่วยเหลือพนักงานและกลุ่มอาชีพอิสระที่ตกหล่นจากการเยียวยา รวมทั้งจัดตั้งกองทุนช่วยเหลืออาชีพอิสระ
3.ให้ภาครัฐมีไทม์ไลน์หรือระยะเวลาในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ที่ชัดเจน โดยขอให้มีคำสั่งปลดล็อกให้ธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิงได้กลับมาเปิดบริการและจัดกิจกรรมต่างๆ ได้ภายในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 โดยต้องปฏิบัติตามคำสั่งของศบค. และกรมควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ให้รัฐบาลระบุวันเวลาที่กิจการต่าง ๆ จะกลับมาเปิดบริการได้อย่างชัดเจน
ขณะที่ นายราเมศ รัตนะเชวง เลขานุการประธานรัฐสภา, นายสาคร เกี่ยวข้อง และนายเกียรติ สิทธีอมร ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นรวม ๆ กันว่า พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะพรรคร่วมรัฐบาลยินดีรับข้อร้องเรียนดังกล่าว และจะจัดทำหนังสือเสนอประธานรัฐสภาเพื่อให้ลงนาม ก่อนส่งมอบให้นายกรัฐมนตรีเป็นลำดับถัดไป พร้อมร่วมกับพรรคฝ่ายค้านเสนอญัตติในรัฐสภา เพื่อพิจารณานำงบประมาณมาช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจกลางคืนและธุรกิจบันเทิง
ขณะเดียวกัน ยังแนะนำให้สมาพันธ์ฯ มองการแก้ไขในระยะยาว ด้วยการจดทะเบียนเป็นสมาคมให้ถูกต้องตามกฎหมาย และจัดตั้งกองทุนสนับสนุนวิชาชีพในธุรกิจที่เกี่ยวข้องร่วมกับรัฐบาล
อ่านข่าวก่อนหน้านี้ :
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: