กรุงเทพฯ – ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติจ่ายเงินเยียวยาโควิด นายจ้าง-ลูกจ้าง 6 จังหวัด กทม.และปริมณฑล ที่ถูกสั่งปิด โดยชดเชยค่าแรง 50% พร้อมเงินพิเศษ ให้ลูกจ้าง 2,000 บาท นายจ้าง 3,000 บาทต่อลูกจ้าง 1 คน
วันที่ 29 มิถุนายน 2564 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุม ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ เห็นชอบมาตรการเยียวยาในระยะเร่งด่วน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างและลูกจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการออกข้อกำหนด ออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดว่าด้วยการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 25) ใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร เป็นระยะเวลา 1 เดือน ดังนี้
ประเภทกิจการที่ให้ความช่วยเหลือ ได้แก่
– กิจการก่อสร้าง
– กิจการที่พักแรมและบริการด้านอาหาร
– กิจกรรมศิลปะ ความบันเทิง และนันทนาการ
– บริการด้านอื่น ๆ ตามที่สํานักงานประกันสังคมกําหนด
รูปแบบการให้ความช่วยเหลือ
1.ลูกจ้างในระบบประกันสังคม มาตรา 33 สัญชาติไทย ซึ่งมีประมาณ 6.9 แสนคน จ่ายชดเชยกรณีเหตุสุดวิสัยร้อยละ 50 ของฐานเงินเดือน สูงสุดไม่เกิน 7,500 บาท นอกจากนี้ ยังจะได้รับเงินช่วยเหลือเพิ่มเติม จำนวน 2,000 บาทต่อราย สำหรับนายจ้างหรือผู้ประกอบการ จะได้รับเงินช่วยเหลือ 3,000 บาทต่อหัวลูกจ้างในบริษัท สูงสุดไม่เกิน 200 คน
ข่าวน่าสนใจ:
2.กรณีลูกจ้างไม่ได้อยู่ในระบบประกันสังคม ให้ดําเนินการ ดังนี้
– กรณีเป็นผู้ประกอบการที่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนกับสํานักงานประกันสังคม ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 จะได้รับเงินช่วยเหลือตามจํานวนลูกจ้างสูงสุด ไม่เกิน 200 คน ในอัตรา 3,000 บาทต่อคน และลูกจ้างที่เป็นสัญชาติไทยจะได้รับความช่วยเหลือ ในอัตรา 2,000 บาทต่อคน แต่จะไม่ได้เงินชดเชยร้อยละ 50 เนื่องจากจ่ายเงินสบทบเข้ากองทุนประกันสังคมไม่ถึง 6 เดือน
– กรณีที่เป็นผู้ประกอบการที่ไม่มีลูกจ้าง ให้ลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน ‘ถุงเงิน’ ผ่านโครงการคนละครึ่ง (หมวดร้านอาหารและเครื่องดื่ม) ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 โดยผู้ประกอบการ จะได้รับความช่วยเหลือในอัตรา 3,000 บาท
ทั้งนี้ รัฐบาลกำหนดกรอบวงเงินไว้ 7,500 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกู้ (จากโครงการกู้เงิน 1 ล้านล้านบาท) จำนวน 4,000 ล้านบาท และของกองทุนประกันสังคมอีก 3,500 ล้านบาท
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: