กรุงเทพฯ – สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ เปิดตัวอย่างเป็นทางการ ส่งเสริมเสรีภาพบนความรับผิดชอบ พร้อมสนับสนุนระบบกำกับดูแลด้านจริยธรรม ‘ดร.สมเกียรติ’ โยนโจทย์ทุกฝ่ายร่วมหามาตรการผสมกำกับดูแลกันเอง เพื่อความปลอดภัยและประโยชน์ของประชาชน
วันที่ 4 กรกฎาคม 2564 ภายในงานครบรอบ 24 ปี สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จัดให้มีพิธีเปิดตัว ‘สภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ’ อย่างเป็นทางการ และลงนามความร่วมมือ (MOU) ระหว่างสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กับ WISESIGHT (Thailand) Co., Ltd จัดทำ Sosical Listening เพื่อสนับสนุนกระบวนการกำกับดูแลด้านจริยธรรม
นายชวรงค์ ลิมป์ปัทมปาณี ประธานสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ กล่าวเปิดงานว่า วันนี้ เป็นวันสำคัญที่จะเปิดสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติอย่างเป็นทางการ จากยุคอนาล็อค มาสู่ยุคดิจิทัล โดยเริ่มจากสภาการหนังสือพิมพ์ที่ทำหน้าที่มา 23 ปี ยกระดับมาเป็นสภาการสื่อมวลแห่งชาติ เมื่อวันที่ 11 พ.ย.2563 นับเป็นจุดเริ่มต้นของการกำกับดูแลกันเองของสื่อ ที่หลอมรวมเป็นสื่อออนไลน์เกือบทั้งหมด ภารกิจแรกคือการยกร่างข้อบังคับจริยธรรมสื่อให้ครอบคลุมบังคับใช้กับสื่อทุกประเภท ทุกแพลตฟอร์ม และกำลังแก้ไขข้อบังคับเรื่องร้องเรียนให้ทันสมัย ตอบสนองกับสื่อดิจิทัลให้มีประสิทธิภาพ ทั้งการทำงานเชิงรุก รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนและผู้เสียหาย โดยจะะมีระบบติดตามความคืบหน้าที่จะทำงานตามกรอบเวลา
อย่างไรก็ตาม การทำงานของสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ ยังให้ความสำคัญกับการทำหน้าที่ของสื่อมวลชนทั้ง ส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ให้มีการปรับตัวทั้งด้านธุรกิจและเนื้อหาภายใต้กรอบจริยธรรม ผ่านกระบวนการปรึกษาหารือ ฝึกอบรม พร้อมทำงานร่วมกับเครือข่ายสื่อมวลชนต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และทำงานร่วมกับสภาการสื่อมวลชนอินโดนีเซีย สภาการสื่อมวลชนเมียนมา สภาการสื่อมวลชนติมอร์เลสเต พร้อมทั้งจะขยายความสัมพันธ์ไปยังประเทศอื่นต่อไป ทั้งหมดเป็นการกำกับดูแลและส่งเสริมเสรีภาพ ส่งเสริมสนับสนุนให้สื่อมวลชนปฏิบัติหน้าที่ภายใต้หลักเสรีภาพและความรับผิดชอบต่อสังคมต่อไป
ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวระหว่างการปาฐกถาพิเศษ ‘เทคโนโลยีสื่อในอนาคต กับความท้าทายการกำกับดูแล’ ว่า โลกออนไลน์เต็มไปด้วยเนื้อหาเท็จที่สร้างปัญหามากมาย เช่น เรื่องโควิด-19 มีนักวิทยาศาสตร์ ออกมาบอกว่าฉีดวัคซีนเสียชีวิต จนกระทรวงสาธารณสุขต้องออกมาชี้แจง หรือเรื่องฟ้าทะลายโจรรักษาโควิด-19 ที่ยังไม่มีข้อสรุปว่าเป็นข้อเท็จจริงหรือไม่ การแพร่ระบาดของสื่อ อย่างทวิตเตอร์ 4 คน ขณะที่อินสตราแกม อยู่ที่ 130 คน การกระจายข่าวสารจึงเกิดการก้าวกระโดด หากเป็นข่าวดีก็เป็นเรื่องดี แต่หากเป็นข่าวเท็จก็จะนำไปสู่ปัญหาในวงกว้าง
อย่างไรก็ตาม ในระบบภูมิทัศน์ของสื่อใหม่ มีสื่อออนไลน์ มีแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ อย่าง กูเกิ้ล เฟซบุ๊ก การกำกับดูแลต้องสัมพันธ์กัน โดยตัวอย่างมีอยู่ 3 รูปแบบ คือ 1.การกำกับตัวเอง ของสหรัฐ 2.การกำกับโดยกฎหมาย ของยุโรป และ 3.การกำกับโดยรัฐของจีน สำหรับประเทศไทยคงมาไกลเกินกว่าจะใช้แบบที่ 3 ดังนั้น ต้องหาส่วนผสมระหว่าง แบบที่ 1 และแบบที่ 2 ซึ่งยุโรปกำลังอยู่ระหว่างการออกกฎหมายบริการดิจิทัล หรือ Digital Service Act จะเป็นการเปลี่ยนแปลงการกำกับสื่อออนไลน์ครั้งใหญ่
แบ่งผู้เกี่ยวข้องเป็น 4 กลุ่ม คือ 1.ตัวกลางสื่อสาร 2.ผู้ให้บริการโฮสติ้ง 3.แพลตฟอร์ม และ 4.แพลตฟอร์มขนาดใหญ่ หากตัวกลางสื่อสารนำเสนอเนื้อหาผิดกฎหมาย ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา เป็นเท็จ ทำให้ปัญหาจะถูกยกเว้นความรับผิดชอบ หากมีคำสั่งจากเจ้าหน้าที่รัฐหรือศาลก็จะต้องจัดการลบทิ้ง โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลสถิติการลบทิ้งให้สาธารณชนได้รับทราบ ส่วนแพลตฟอร์มจะต้องมีกลไกรับเรื่องร้องเรียนและจัดการโดยเร็ว รวมทั้งระงับบริการผู้ใช้ที่สร้างปัญหา ขณะที่แพลตฟอร์มขนาดใหญ่จะต้องมีกลไกประเมินความเสี่ยง
ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า กลไกของสหรัฐในการกำกับตัวเองเพราะสิทธิการแสดงออกได้รับการรับรองโดยรัฐธรรมนูญ จึงเน้นไปที่กำกับดูแลกันเอง ไม่มีการปิดกั้น แต่ยังมีการถกเถียงว่าเรื่องไหนที่รัฐควรจะเข้าไปแทรกแซงหรือไม่ แต่ไม่มีข้อปฏิบัติที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ต้องมีการสร้างความรู้เท่าทันสื่อให้ประชาชนด้วย จากข้อมูล ของ OECD พบว่า เด็กไทยได้รับการสอนเรื่องการรู้เท่าทันสื่อออนไลน์สูงกว่าประเทศพัฒนา แต่ในทางปฏิบัติกลับยังขาดทักษะจริง การจัดการอีเมลที่เป็นสแปมอยู่ที่ลำดับ 77 จาก 78 ประเทศ สอดรับกับคะแนนการอ่านที่ลดลงต่อเนื่อง นอกจากนี้ โลกออนไลน์ยังเต็มไปด้วยเนื้อหาที่เป็นเท็จ ควรสร้างทักษะรู้เท่าทันสื่อ ทั้งการย้อนไปดูต้นเรื่องที่มา ตรวจความน่าเชื่อถือแหล่งที่มา สอบทานกับแหล่งที่น่าเชื่อถือ ระวัง Deep Fake เช็กกับหน่วยงานตรวจสอบข้อเท็จจริง อย่างไทยก็มี Cofacts รวมทั้งสร้างความสมดุลในการบริโภคข่าวออนไลน์ โลกเรากำลังเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ด้านสื่อ เกิดสื่อออนไลน์ มีการกระจายข้อมูลอย่างรวดเร็ว มากกว่าการกระจายของเชื้อโรคด้วยซ้ำ จำเป็นต้องใช้เครื่องมือในหลายรูปแบบ
ประธานทีดีอาร์ไอ กล่าวด้วยว่า ประเทศไทยมีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายเร่งด่วน มีดำริจะยกร่างโดยยึดกฎหมายจากสหภาพยุโรปเป็นต้นแบบ ส่วนภาคธุรกิจที่มาจากต่างประเทศ เช่น เฟซบุ๊ก จะมีข้อกำหนดจากประเทศเขาติดมา หรือ แพลตฟอร์ม ที่มีทั้งแพลตฟอร์มเปิดและปิด อย่างไลน์ การตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นเท็จทำได้ยากและง่ายแตกต่างกัน บทบาทองค์กรวิชาชีพสภาการสื่อมวลชนแห่งชาติ จะช่วยกันเติมเต็ม นอกจากกฎหมายที่จะออกมา แต่บางธุรกิจอาจไม่ทำตาม ทั้งหมดนี้โจทย์เปิดให้ช่วยกันพิจารณาว่าจะมีมาตรการผสมกันอย่างไรเพื่อกำกับดูแลสื่อให้ปลอดภัยและเป็นประโยชน์กับสังคมมากที่สุด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: