กรุงเทพฯ – สธ.ปรับมาตรการฉีดวัคซีนลดการปูพรม เน้น ‘ผู้สูงอายุ- 7 โรคเรื้อรัง’ ไม่น้อยกว่า 80% ในเดือน ก.ค. โดยเฉพาะ กทม. หวังลดจำนวนผู้ติดเชื้อ-ตาย ใน 2 สัปดาห์ ส่วนปริมณฑลจะฉีดให้ได้ใน ก.ค. ก่อนจังหวัดอื่น ๆ ภายใน ส.ค.64 พร้อมฉีดกระตุ้นในบุคคลากรทางการแพทย์ ก่อนไปสู่คนทั่วไป พร้อมค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ และบังคับใช้ Work From Home 70%
วันที่ 5 มิถุนายน 2564 นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข แถลงถึงแนวทางการควบคุมและป้องกันโรคโควิด-19 ที่ตัวเลขผู้ป่วยเพิ่มขึ้นหลักพันคนมาระยะหนึ่งแล้วว่า สืบเนื่องจากการกลายพันธุ์ของโรค การระบาดยังอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่วนต่างจังหวัดเป็นผู้ที่เดินทางจากกรุงเทพฯ ทำให้เกิดการระบาดขึ้น และแม้มีตัวเลขที่เพิ่มขึ้น แต่จังหวัดต่าง ๆ สามารถดูแลได้เป็นอย่างดี และสามารถนำผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาได้
พื้นที่ กทม. ที่มีการติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก สธ.จึงจะเข้ามาช่วยเหลือ ตั้งแต่การควบคุมโรค การบริหารจัดการเตียง และให้นโยบายวัคซีนโควิด-19 เพื่อการควบคุมโรคและช่วยเหลือผู้ป่วยให้เร็วที่สุด
ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวอีกว่า กรมควบคุมโรคเสนอปรับวิธีการควบคุมโรคให้เหมาะสม เพื่อลดปริมาณผู้ติดเชื้อและให้ผู้ป่วยได้รับการดูแลที่ดีขึ้น ได้แก่
1.การค้นหาผู้ติดเชื้อใหม่ ปรับระบบรักษาดูแลผู้ป่วย มาตรการวัคซีน และมาตรการทางสังคม ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมโรคที่จะใช้ใน กทม.ให้ทัน ภายใน 2-3 สัปดาห์ของเดือนนี้ เพื่อให้จำนวนผู้ป่วยลดลง และควบคุมโรคใน กทม.ให้ได้ ภายในเดือนกรกฎาคมนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- ปัญหาที่ท้าทายของ “กรมชลประทาน” กับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงแจ้งเตือนการเกิดอุทกภัยใน “พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง”
- ประธานวุฒิฯ-พร้อมคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานด้าน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ ผู้ด้อยโอกาส รับฟังปัญหาในพื้นที่เชียงราย
- ระทึก! ม้าเหล็กขยี้รถเก๋ง โค้ชฟุตบอลรอดปาฏิหาริย์ในเสี้ยววินาที
2.การจัดการเตียง โดยมีแนวทางการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Isolation) ที่มีระบบติดตามดูแล รักษา ไม่ทอดทิ้ง แต่เมื่อมีอาการมากขึ้นก็จะส่งรักษาต่อไป
3.มาตรการวัคซีน สธ.ปรับนโยบายฉีดวัคซีน ดังนี้
3.1 ฉีดกระตุ้น (Booster Dose) ให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าในโรงพยาบาบ ที่มีโอกาสสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง เพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันให้สูงขึ้น โดยเฉพาะสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ หรือสายพันธุ์เดลต้า (อินเดีย) หรือสายพันธุ์อื่น ๆ เพื่อธำรงรักษาระบบสาธารณสุขของประเทศ ให้เดินหน้านต่อไปได้ แต่จะฉีดวัคซีนกระตุ้นอย่างไร ขอให้เป็นไปตามข้อมูลทางวิชาการ
3.2 การฉีดวัคซีนให้ผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง วัคซีนที่มีในเดือนกรกฎาคมนี้ จะเน้นให้ 2 กลุ่มนี้ ให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของวัคซีนที่ได้มา เพื่อลดอัตราการป่วยหนักหรือการเสียชีวิต
3.2 การฉีดวัคซีนตามนโยบายปูพรมจะลดลง แต่จะฉีดในกลุ่มเฉพาะมากขึ้น มุ่งเน้นการฉีดเพื่อการควบคุมโรคในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค ซึ่งจะมีวางมาตรการลงไป เช่น เฝ้าระวังการติดเชื้อ ฉีดวัคซีนเข้าไปในพื้นที่ระบาด เพื่อการควบคุมโรคให้ดีขึ้น ลดจำนวนการติดเชื้อ ลดการติดเชื้อในกลุ่มที่จะมีอาการรุนแรงและอาการหนักต่อไป
เดือนต่อไป จึงจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วไปมากขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมจำนวนประชากรให้ได้มากที่สุด
ด้านนายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ระบุว่า ขณะนี้กรุงเทพฯ และปริมณฑล เป็นจุดศูนย์กลางระบาด การปรับมาตรการจึงต้องสอดคล้องกับสถานการณ์ โดยการแยกกัก ควบคุมโรค ต้องเน้นผู้สูงอายุ และผู้ป่วยเสี่ยงรุนแรง โดยจัด Fask Track (ทางด่วน) สำหรับผู้สูงอายุ ผู้เปราะบางเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรง และผู้ที่มีอาการสงสัย ให้ได้รับการตรวจ RTPCR ไม่จำกัดโควตา และเชื่อมกับการรับเข้าสู่ระบบการรักษาและแยกกักโรคในโรงพยาบาลทันที เพื่อลดการป่วยและเสียชีวิต ส่วนกลุ่มอื่น ๆ ที่ไม่มีอาการ วัยหนุ่มสาวก็ใช้วิธีตรวจอื่น ๆ ควบคู่กันไป เช่น การตรวจเชื้อรถพระราชทาน การตรวจเชิงรุกต้องระวังซุปเปอร์สเปรดเดอร์ และการทำบับเบิ้ลแอนด์ซีลในสถานประกอบการ โรงงานต่าง ๆ
อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวด้วยว่า มาตรการวัคซีนในเดือนกรกฎาคมนี้ ตั้งเป้าอย่างน้อย 10 ล้านโดส จะกระจายวัคซีนทุกสัปดาห์ สัปดาห์ละ 2-2.5 ล้านโดส เพื่อลดการป่วยหนักและเสียชีวิต รวมถึงควบคุมการระบาด โดยเฉพาะกทม.และปริมณฑล และเตรียมเปิดพื้นที่เศรษฐกิจ ซึ่งภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ดำเนินการได้ราบรื่น ก่อนขยายไปเกาะสมุย
การระดมฉีดวัคซีน ใน กทม.นั้น มีผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง 1.8 ล้านคน โดยจะระดมฉีดให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 70 ภายใน 2 สัปดาห์ ส่วนปริมณฑลจะฉีดให้ได้ในเดือนกรกฎาคม สำหรับจังหวัดอื่น ๆ ใน 2 กลุ่มนี้ อีก 17.85 ล้านคน ฉีดภายในสิงหาคม 2564 นอกจากนี้ ยังจะยกระดับมาตรการทางสังคมและองค์กร โดยบังคับใช้มาตรการทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) ในหน่วยงานรัฐที่ไม่ใช้หน่วยบริการ และเอกชนขนาดใหญ่ อย่างน้อยร้อยละ 70 ส่วนประชาชนเอง ต้องเพิ่มความระมัดระวังตัวเองและทำบับเบิ้ลแอนด์ซีล เข้มงวดการเดินทาง ทำงาน และที่บ้าน งดเว้นรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่นในที่ทำงาน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: