X

เปิดเหตุผลฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด หวัง ‘กระตุ้นภูมิ กันเชื้อกลายพันธุ์’

นนทุบรี – คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติสลับชนิดฉีดวัคซีนโควิด กรมควบคุมโรค แจง บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า จะได้ฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ กระตุ้นเข็ม 3 (บูสเตอร์ โดส) เหตุวัคซีนไฟเซอร์ยังส่งมาไม่ถึง  ส่วนประชาชนที่ฉีดวัคซีนซิโนแวคครบ 2 เข็ม จะมีบูสเตอร์ โดส ให้เช่นกัน

วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 ตามที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ เห็นชอบ 4 เรื่องในการควบคุมโรคโควิด-19 ประกอบด้วย

1.เห็นชอบการฉีดวัคซีนโควิดสลับชนิด โดยเข็มที่ 1 เป็นซิโนแวค เข็มที่ 2 เป็นแอสตร้าเซนเนกา ระยะห่างกัน 3-4 สัปดาห์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลตา โดยสามารถดำเนินการได้ทันที เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า

2.รับทราบการฉีดวัคซีนแบบบูสเตอร์ โดส โดยให้วัคซีนเข็มที่ 3 ห่างจากเข็ม 2 ในระยะ 3-4 สัปดาห์ขึ้นไป โดยบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้าได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มเกิน 4 สัปดาห์แล้ว จึงจะฉีดกระตุ้นบูสเตอร์โดสได้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันสูงและเร็วที่สุด จากการกลายพันธุ์จากอัลฟา (อังกฤษ) มาเป็นเดลตา (อินเดีย)

3.เห็นชอบแนวทางใช้ชุดตรวจ Rapid antigen test (แรพิด แอนติเจน เทสต์) ในสถานพยาบาล ลดการรอนานจากการตรวจ RT-PCR ซึ่งใช้เวลานาน แต่ต้องผ่านการรับรองและขึ้นทะเบียนกับ อย. จะอนุญาตให้ตรวจในสถานพยาบาลกว่า 300 แห่ง และเร็ว ๆ นี้ จะอนุญาตให้ประชาชนตรวจได้เองที่บ้าน

4.เห็นชอบแนวทางการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) และแยกกักในชุมชน (Community Isolation) สำหรับผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรง จะมีระบบติดตาม มีเครื่องมือวัดออกซิเจนในกระแสเลือด มียา และอาหารให้ ซึ่งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะร่วมมือกับ รพ.ที่เป็นเจ้าภาพในการดูแล

นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ชี้แจงว่า โดยหลักการจะมีการปรับวิธีการฉีดวัคซีนใหม่ให้สลับชนิดกัน เช่น ชนิดแรกเป็นเชื้อตาย วัคซีนถัดไปก็ต้องเป็นอีกแบบหนึ่ง อาจเป็นไวรัลแว็กเตอร์ หรือ mRNA ซึ่งมีข้อมูลวิชาการรองรับ โดยตรงนี้จะทำให้ประชาชนมีภูมิคุ้มกันดีขึ้น ทั้งนี้ 70-80% ของผู้เสียชีวิต เป็นผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปี และปัจจัยโรคร่วม เช่น อ้วน โรคเรื้อรังต่าง ๆ สิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงทำให้คนไข้มีอาการหนัก จึงต้องฉีดวัคซีนให้กลุ่มนี้เป็นหลัก รวมทั้งหญิงตั้งครรภ์ด้วย จึงมีนโยบายให้ดำเนินการโดยเร็ว และอย่างน้อย 80% สำหรับคนกลุ่มนี้ เพื่อไม่ให้เกิดการป่วยหนัก จนเสี่ยงเสียชีวิต เพื่อให้ระบบการสาธารณสุขดูแลได้ต่อไป

ด้าน นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เสริมว่า การให้วัคซีนโควิดสลับชนิดกันเพื่อเพิ่มภูมิคุ้มกันได้สูง ซึ่งจากการศึกษาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ทั้ง 3 แหล่งตรงกันว่า ถ้าฉีดวัคซีนสลับชนิดกันจะสามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้สูง และเชื่อว่าจะสามารถต่อสู้กับเชื้อกลายพันธุ์ โดยเฉพาะสายพันธุ์เดลตา

ตัวเลขในห้องปฏิบัติการเห็นได้ชัดเจนว่า ฉีดเข็มแรกเป็นซิโนแวค อีก 3-4 สัปดาห์ ฉีดเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนกา พบกระตุ้นภูมิคุ้มกันสูงขึ้น ใกล้เคียงกับได้รับแอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ใช้เวลาสร้างภูมิฯ สั้นกว่า เดิมฉีดแอสตร้าฯ ต้องใช้เวลา 12 สัปดาห์ถึงจะฉีดเข็ม 2 แต่ถ้าเราใช้วิธีนี้จะร่นเวลาสร้างภูมิคุ้มกันเร็วขึ้น ส่วนกรณีฉีดแอสตร้าฯ เข็มที่ 1 ข้อแนะนำยังให้ฉีดแอสตร้าเป็นเข็ม 2 ไม่มีการสลับชนิดตรงนี้ ทั้งนี้ การบูสเตอร์ โดส จะเป็นแอสตร้าเซนเนก้า เป็นหลัก เนื่องจากวัคซีนไฟเซอร์ ที่บริจาคจากสหรัฐอเมริกายังไม่ได้ส่งมา กำลังหารือในรายละเอียด ทั้งจำนวนและเวลาส่งมอบ ส่วนประชาชนที่ฉีดครบ 2 เข็มแล้ว การฉีดบูสเตอร์ โดส จะดำเนินการต่อไป แต่ต้องดูข้อมูลต่าง ๆ ให้ครบถ้วนด้วย

อธิบดีกรมควบคุมโรค ยังระบุว่า จากตัวเลขการฉีดวัคซีนขณะนี้ พบว่าประชาชนเกิน 10% ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม ในระยะต่อไปกระทรวงสาธารณสุขจะทยอยส่งมอบวัคซีนไปยังจุดฉีดอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2 ล้านโดส และแนวปฏิบัติขณะนี้ เนื่องจากมีการระบาดค่อนข้างมากใน กทม. และปริมณฑล ดังนั้น ใน 2 สัปดาห์นี้ จะฉีดให้ผู้สูงอายุ และผู้มี 7 กลุ่มโรค โดยเฉพาะพื้นที่ระบาด เช่น สัปดาห์นี้จะส่งวัคซีนใน กทม. 7 แสนโดส ใน 126 จุดฉีดใน กทม. และ 21 จุดฉีดนอก รพ.

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"