กรุงเทพฯ – กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์-รามาฯ เผย พบโควิดสายพันธุ์เดลตา กลายพันธุ์ พบสายพันธุ์ย่อยกว่า 20 สายพันธุ์ ในไทยพบ 4 สายพันธุ์ย่อย แต่ไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ หรือสายพันธุ์ไทย แต่ยังไม่พบความรุนแรง ขอติดตามต่อ
วันที่ 24 สิงหาคม 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นำแถลงถึงการเฝ้าระวังสายพันธุ์และการกลายพันธุ์โควิด-19 และสายพันธุ์ย่อยของเดลตาในไทย ว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา มีการตรวจ 2,295 ตัวอย่าง พบสายพันธุ์เดลตา (อินเดีย) มากที่สุด โดยภาพรวมประเทศอยู่ที่ 92.9% ขณะที่ในกรุงเทพมหานครพบถึง 96.7% จากจำนวน 1,531 ตัวอย่าง ส่วนภูมิภาค 85.2% จาก 764 ตัวอย่าง สรุปคือสายพันธุ์เดลตากระจายอยู่ทั่วประเทศ จึงถือว่าเดลตาเป็นสายพันธุ์หลักในการติดเชื้อของไทย สำหรับเบตา (แอฟริกาใต้) ยังพบในโซนภาคใต้ส่วนล่าง โดยเฉพาะที่ติดมาเลเซีย พบที่ จ.นราธิวาส มากที่สุด 15 ราย นอกนั้นมีที่ กระบี่ ภูเก็ต ปัตตานี และสงขลา ส่วนที่เคยพบที่ จ.บึงกาฬ และกรุงเทพฯ ขณะนี้ไม่มีแล้ว
นพ.ศุภกิจ แถลงต่อว่า เมื่อ 2-3 วันที่ผ่านมา ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล วิเคราะห์สายพันธุ์ย่อยของเดลตา ปัจจุบันเดลตาในบ้านเราและเกือบทั่วโลก เป็นเดลตา B.1.617.2 เป็นส่วนใหญ่ แต่เมื่อมีการระบาดเร็ว จึงมีสายพันธุ์ย่อย ๆ ขึ้นมา ซึ่งไม่ได้มีเฉพาะประเทศไทย ยังมีอีกหลายประเทศ ทั้งอังกฤษ สเปน เดนมาร์ก ดังนั้น อย่าไปสรุปว่าเป็นสายพันธุ์ของไทย แต่ต้องจับตามองว่าสายพันธุ์นี้จะมีผลต่อการควบคุมโรคหรือไม่
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ระบุว่า จากการหลายประเทศถอดรหัสพันธุ์กรรมของโควิด ทำให้พบว่า สายพันธุ์เดลตามีการกลายพันธุ์หลุดออกมาถึง 60 ตำแหน่ง เมื่อเทียบกับอู่ฮั่นเดิม บ่งชี้ว่ามีการแพร่ระหว่างคนสู่คนมาก สายพันธุ์เดลตา พบการกระจายตัวแตกเป็นสายพันธุ์ย่อยถึง 27 สายพันธุ์ย่อย มีตั้งแต่ AY.1 ไปจนถึง AY.22 โดย AY.4 หรือ B.1.617.2.4 พบ 3% ในปทุมธานี 4 คน, AY.6 หรือ B.1.617.2.6 พบ 1% มี 1 คนในกรุงเทพฯ, AY.10 หรือ B.1.617.2.10 พบ 1% หรือ 1 คน ในกรุงเทพฯ และ AY.12 พบที่สุราษฎร์ธานี 2 ตัวอย่าง และอีก 1 คน ย่านพญาไท เพราะมีการสุ่มบริเวณนั้น ซึ่งในไทยต้องจับตา AY.4 เพราะพบค่อนข้างมาก ข้อมูลที่เก็บทั้งหมดจะนำติดตามการกลายพันธุ์อย่างต่อเนื่อง
ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาสายพันธุ์ย่อยที่พบ ไม่ได้บ่งชี้ว่ามาจาก State Quarantine หรือมาจากสนามบิน แต่กลับบ่งชี้ว่า เป็นลูกหลานของสายพันธุ์หลักเดลตาที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย ส่วนสายพันธุ์หลักจะมาจากไหนก็ต้องไปว่ากันอีกที เมื่อทราบข้อมูลก็จะนำไปสู่การควบคุมดูแลอีกแบบหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อมูลมารองรับว่า สายพันธุ์ย่อยดังกล่าวจะดื้อต่อวัคซีนหรือไม่ รวมไปถึงอาการต่าง ๆ ทั้งนี้ หากมีการแพร่กระจายจากคนสู่คนได้มาก ทุกสายพันธุ์ก็มีโอกาสกลายพันธุ์และมีสายพันธุ์ย่อยได้มาก
ด้าน นพ.สุรัคเมธ มหาศิริมงคล ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เสริมว่า สายพันธุ์เดลตามีการอัปเดตตลอด ทุกตัวมีคุณสมบัติแพร่กระจายเร็ว อาการรุนแรง สำหรับเชื้อเดลตาพลัสที่อินเดียเคยรายงาน คือ K417N ในไทยยังไม่พบ แต่ตั้งเป้าจะติดตามและถอดรหัสพันธุกรรมอีก 6,000 ตัวอย่าง ภายในปี 2564
ข่าวน่าสนใจ:
- ททท. จัดงานใหญ่ "วิจิตรเจ้าพระยา 2024" สวยงามตระการตา กระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปีนี้
- "รัฐสภา" ร่วมสนับสนุนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร”
- ทีดีอาร์ไอ จัดเวิร์คชอป “ CONTENT CREATOR WORKSHOP: SYNERGY FOR CLEAN ENERGY”
- วธ.จัด“ลอยกระทงวิถีไทย ปลอดภัย ใส่ใจสิ่งแวดล้อม” น้อง“หมูเด้ง” Thai Cuteness ร่วมสร้างสีสัน
ยังไม่พบความรุนแรงผู้ป่วยสายพันธุ์ย่อยเดลตา
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สรุปว่า อาการของผู้ป่วยที่พบสายพันธุ์ย่อยนั้น
ยังไม่พบว่าแตกต่างจากผู้ป่วยสายพันธุ์หลัก แต่ด้วยยังมีจำนวนไม่มาก จึงไม่สามารถบอกอะไรได้มาก จึงต้องติดตามต่อเนื่องอีก แต่หลัก ๆ ทุกสายพันธุ์ย่อยมักเจอในสถานที่มีการระบาดอย่างกว้างขวาง จึงต้องเฝ้าระวัง ในต่างประเทศเองก็ยังไม่มีข้อมูลว่าแพร่เร็วขึ้น หรือทำให้อัตราการป่วยตายมากขึ้น และยังไม่ถูกจัดชั้น พร้อมย้ำว่า การพบสายพันธุ์ย่อยนั้น ไม่ใช่สายพันธุ์ไทย และไม่ใช่สายพันธุ์ใหม่ แต่ 4 สายพันธุ์ย่อยนี้เป็นลูกหลานของเดลตาที่พบในไทยอยู่แล้ว ซึ่งยังไม่พบความรุนแรง หรือมีผลใด ๆ และไม่เป็นปัญหากับระบบใด ๆ กรมและเครือข่ายจะติดตามข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: