กฟผ. และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ร่วมพัฒนานวัตกรรมระบบกักเก็บพลังงาน ในโครงการวิจัยและพัฒนา ‘Engywall’ แบตเตอรี่สำหรับใช้ในบ้านต้นแบบสู่เชิงพาณิชย์ หวังสร้างชุมชนยั่งยืนด้วยพลังงานสะอาด
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ร่วมกับ รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ โครงการวิจัยและพัฒนา ‘Engywall’ เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ ซึ่งดำเนินการลงนามผ่านระบบออนไลน์ เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2564
ดร.จิราพร ศิริคำ ระบุว่า โครงการวิจัยและพัฒนา ‘Engywall’ เพื่อใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ จะมีกรอบระยะเวลา 3 ปี โดยเป็นการนำองค์ความรู้ ผลงานวิจัย นวัตกรรม และเทคโนโลยี ตลอดจนศักยภาพของบุคลากรทั้งสองหน่วยงาน มาร่วมกันวิจัยและพัฒนาต่อยอดเป็นนวัตกรรมใหม่ขยายผลสู่เชิงพาณิชย์ ซึ่งจะดำเนินการนำแบตเตอรี่ที่พัฒนาและผลิตโดย มข. มาพัฒนาต่อเป็นระบบกักเก็บพลังงาน หรือ Battery Energy Storage System (BESS) โดยจะเรียกว่า Engywall ซึ่งเป็น BESS สำหรับใช้ในบ้าน และเพื่อให้ชุมชนนำไปใช้ให้เกิดการพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคงยั่งยืน
ด้าน รศ.นพ.ชาญชัย อธิการบดี มข. เปิดเผยว่า ทั้งสองหน่วยงานจะร่วมดำเนินการพัฒนาและทดสอบประสิทธิภาพของ Engywall โดยจะนำระบบแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไออนที่ผลิตจากโรงงานต้นแบบของ มข. ซึ่งเป็นโรงงานผลิตแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไออนแห่งแรกของประเทศไทยที่ได้รับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (มอก.) และผ่านการทดสอบตามมาตรฐานสากลของ IEC โดยแบตเตอรี่ที่ผลิตได้จะใช้ขั้วแอโนดที่มีนาโนซิลิกอนผลิตจากแกลบเป็นส่วนประกอบ ส่งผลให้แบตเตอรี่สามารถกักเก็บพลังงานได้สูง ปลอดภัย และรองรับการอัดประจุไฟฟ้าได้อย่างรวดเร็ว (Fast Charge) ไปประกอบกับอุปกรณ์ Inverter สำหรับระบบไฟฟ้า 1 เฟส (Single-phase Grid-connected Inverters) ของ กฟผ.
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: