กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี ชี้ ล็อกดาวน์ส่งผลผู้ติดเชื้อโควิดลดลง ศบค.เห็นชอบแผน Smart Control and Living with COVID-19 ‘อยู่ร่วมกับโควิดปลอดภัยและสมดุล’ ด้วยมาตรการ 10 ข้อ ควบคู่มาตรการที่จะเริ่ม 1 ก.ย.นี้ ย้ำ สิ้นปี มีวัคซีน 120 ล้านโดส
วันที่ 28 สิงหาคม 2564 เพจเฟซบุ๊ก ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรววงกลาโหม โพสต์ข้อความถึงคนไทย ระบุว่า
พี่น้องประชาชนชาวไทยที่รักทุกท่าน เมื่อวานนี้ (27 ส.ค.) มีการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ซึ่งมีการประเมินผลของมาตรการล็อกดาวน์ โดยกระทรวงสาธารณสุขได้นำเสนอผู้ติดเชื้อที่เริ่มมีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นไปตามการคาดการณ์ผลจากการล็อกดาวน์ได้ 25% ทำให้คณะแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมีความเห็นว่า เราสามารถปรับมาตรการควบคุมโรค เพื่อให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงช่วงก่อนหน้านี้ รวมถึงลดผลกระทบด้านเศรษฐกิจและสังคม ในการอนุญาตให้จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดเปิดกิจการหรือดำเนินกิจกรรมบางอย่าง หรือการเดินทางข้ามจังหวัด ภายใต้การดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคอย่างเคร่งครัด ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยง
ในปัจจุบัน ทั่วโลกต่างยอมรับว่า เชื้อโควิดนี้มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์และแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย จนกลายเป็นโรคประจำถิ่น เป้าหมายที่อยู่บนพื้นฐานความจริง จึงไม่ใช่การกำจัดโรคนี้ให้หมดไป แต่ต้องแลกกับความเสียหายทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างมหาศาล แต่เป็นการอยู่ร่วมกับโควิดให้ได้อย่างปลอดภัยและสมดุล ซึ่งวันนี้ ศบค. ได้เห็นชอบกับแผนการที่เรียกว่า “Smart Control and Living with COVID-19” หรือ การควบคุมโรคแนวใหม่ที่สมดุลกับการดำเนินชีวิตที่ปลอดภัยจากโควิด-19 โดยมีมาตรการ 10 ข้อดังนี้
ข่าวน่าสนใจ:
- "กรุงเทพฯ ดีต่อใจ" ชวน ฮีลกาย..ฮีลใจ รับปีใหม่ 3-5 ม.ค.68
- นายกฯ พบปะนักเรียนจากทั่วอีสาน ชูโครงการ "หนึ่งอำเภอหนึ่งทุน" เพิ่มโอกาสชีวิต
- นายกฯ "อิ๊ง" เปิดงานออนซอนกลองยาวชาววาปี สานตำนานเมืองวาปีปทุม 142 ปี
- หมดวาระอบจ.ตรัง รุ่งขึ้น “บุ่นเล้ง” เปิดตัวทันควัน ใช้ชื่อ “ทีมนายกบุ่นเล้ง” แทน “ทีมกิจปวงชน” ชูนโยบาย “รวมพลังที่ยิ่งใหญ่ ขับเคลื่อนตรังให้เป็น 1”
1. การยกระดับมาตรการ DMHT (อยู่ห่าง-ใส่แมสก์-ล้างมือ-วัดอุณหภูมิ) เป็นมาตรการ Universal Prevention (การป้องกันแบบครอบจักรวาล) นั่นคือการระมัดระวังตัวเองอย่างสูงสุด โดยคิดเสมือนว่าทุกคนที่พบปะนั้นมีโอกาสเป็นผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น ซึ่งรายละเอียดในมาตรการนี้นั้น ผมได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้แล้ว
2. การจัดหาวัคซีนและฉีดให้ได้มากและเร็วที่สุด โดยเฉพาะกับกลุ่มเสี่ยง โดยรัฐบาล ได้ทำทุกวิถีทางเพื่อให้ได้วัคซีนมามากและเร็วที่สุด และถึงวันนี้เรามั่นใจว่า ภายในสิ้นปีนี้ รัฐบาลจะจัดหาวัคซีนที่ฉีดให้ประชาชนได้อย่างน้อย 120 ล้านโดส ซึ่งขยายเพิ่มจากเป้าหมายเดิม 100 ล้านโดส ซึ่งเมื่อรวมกับวัคซีนทางเลือกของเอกชน เราจะมีวัคซีนรวมอย่างน้อย 130 ล้านโดส ทำให้เราจะสามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศไทยได้กว่า 65 ล้านคน
3. การจัดหาชุดตรวจโควิดด้วยตนเอง (ATK – Antigen Test Kit) ให้ประชาชนเข้าถึงได้ง่ายและราคาถูก ซึ่งทาง สปสช. ได้สั่งซื้อหาและจะแจกจ่ายให้ประชาชนจำนวน 8.5 ล้านโดส โดยเร็วที่สุด และจะจัดหามาเพิ่มอีกในอนาคต และรัฐบาลได้ดำเนินการให้มีชุดตรวจราคาถูกที่ประชาชนและผู้ประกอบการเข้าถึงได้อย่างสะดวกและราคาถูกยิ่งขึ้น
4. การจัดทำมาตรการ Bubble & Seal กับโรงงาน สถานประกอบการ และแคมป์ก่อสร้าง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นให้อยู่ในวงจำกัดที่สุด และดูแลจัดการอย่างครบวงจร ตั้งแต่การตรวจคัดกรอง การแยกกัก และการรักษาผู้ป่วย ที่จะทำให้เราไม่ต้องปิดทั้งโรงงาน และสามารถดำเนินการผลิตในบางส่วนของโรงงานหรือการก่อสร้างไปได้โดยไม่สะดุด
5. การจัดการสภาพแวดล้อมและการคัดกรองการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ในสถานที่เสี่ยง คือตลาด และชุมชนแออัด ที่เป็นแหล่งแพร่ระบาดและเกิดคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก โดยจะต้องมีการจัดสภาพแวดล้อมตามมาตรการอย่างเข้มงวด และมีการตรวจคัดกรองเป็นประจำเพื่อหยุดการระบาดตั้งแต่ต้น
6. การจัดสภาพแวดล้อมของกิจการที่มีความเสี่ยงเป็นแบบปราศจากโควิด (COVID-Free Setting) เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินกิจการได้ ซึ่งมี 3 องค์ประกอบสำคัญคือ 1. COVID-Free Environment (สภาพแวดล้อมปราศจากโควิด) เช่นระบบระบายอากาศ การจัดสถานที่ให้ไม่แออัด 2. COVID-Free Personnel (พนักงานปราศจากโควิด) เช่นการฉีดวัคซีนและตรวจ ATK 3. COVID-Free Customer (ลูกค้าปราศจากโควิด) เช่นการแสดงผลฉีดวัคซีนหรือการตรวจ ATK
7. การจัดสภาพการทำงานและการเดินทางที่ปลอดภัย ไม่แออัด รวมถึงการคัดกรองโรคด้วยชุดตรวจ ATK สำหรับองค์กรขนาดใหญ่ที่มีพนักงานจำนวนมาก ซึ่งจะทำให้ไม่เกิดการระบาดในสถานที่ทำงาน และติดเชื้อต่อไปยังครอบครัวที่บ้าน โดยเฉพาะผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงสูง และเด็กที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน
8. การจัดกิจกรรม สถานที่ และบริการสาธารณะต่างๆ ภายใต้มาตรการ 3C คือ การไม่จัดให้เกิดพื้นที่เสี่ยง 3 ประการ คือ “แออัด-ใกล้ชิด-ปิดอับ” (Crowded Places Close-Contact Setting, Confined & Enclosed Spaces) ซึ่งเป็นสภาพแวดล้อมที่มีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดได้สูง
9. การจัดการบริการควบคุมโรคเชิงรุก เข้าถึงกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเปราะบางในพื้นที่และชุมชนระบาด ด้วยหน่วยเคลื่อนที่ CCRT (Comprehensive COVID-19 Response Team) ทั้งการตรวจคัดกรอง การนำผู้ป่วยออกมารักษา การฉีดวัคซีน โดยเฉพาะกับผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ที่ไม่สามารถขอรับความช่วยเหลือได้ด้วยตนเอง
10. ตรวจคัดกรองเชิงรุกให้รวดเร็ว รู้ผลให้เร็ว แยกกักผู้ป่วยและผู้มีความเสี่ยงเร็ว และรักษาผู้ป่วยได้เร็ว ด้วยชุดตรวจ ATK และระบบแยกกักที่บ้านและที่ชุมชน Home Isolation & Community Isolation สำหรับผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรืออาการไม่รุนแรง ที่ช่วยบรรเทาภาระของการครองเตียง และการต้องใช้บุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งจะช่วยทำให้ผู้มีอาการหนักหรือปานกลาง สามารถเข้ารับการรักษาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น และมีโอกาสรักษาหายดีมากยิ่งขึ้น
นโยบาย “Smart Control and Living with COVID-19” ทั้ง 10 ข้อนี้ ได้มีการดำเนินการมาแล้วในหลายข้อ และได้ผลดีที่เป็นปัจจัยสำคัญในการลดยอดผู้ติดเชื้อได้ ส่วนบางข้อนั้นจะมีการยกระดับและดำเนินการไปพร้อมกับการปรับมาตรการที่จะเริ่มในวันที่ 1 ก.ย. นี้ ซึ่งจะเป็นหนทางที่ช่วยให้ประเทศไทยจะก้าวไปสู่อนาคตร่วมกันอย่างปลอดภัยและมั่นคง สามารถฟื้นเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของเราได้ ผมจึงขอให้พวกเราทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชนทุกคน ได้นำหลักการและแนวคิด Smart Control and Living with COVID-19 นี้ไปปรับใช้กับองค์กรของท่าน ชุมชนของท่าน ครอบครัวของท่าน และตัวท่านเอง เพื่อให้เราก้าวผ่านวิกฤตสู่อนาคตของประเทศไทยร่วมกันครับ
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: