กรุงเทพฯ – ครม.อนุมัติ ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ
พ.ศ.2558 เพิ่มประสิทธิภาพการจัดการภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข
ยืนยัน ไม่มีนิรโทษกรรมฝ่ายนโยบายและบริหาร
วันที่ 21 กันยายน 2564 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่ากระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุม มีมติอนุมัติยกร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ. …. ตามที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ
โดยมีสาระสำคัญ เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 ให้เป็น ร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 พ.ศ…. เพื่อกำหนดให้มีมาตรการที่จำเป็นและมีประสิทธิภาพในการ ป้องกัน ระงับ ควบคุม หรือขจัดโรคติดต่อที่มีการระบาดในกรณีปกติ และในกรณีที่มีความรุนแรงให้ยุติหรือบรรเทาลงโดยเร็ว และเพิ่มหมวดเกี่ยวกับการจัดการสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข เพื่อแยกการจัดการกรณีโรคติดต่อในสถานการณ์ปกติ ออกจากโรคติดต่ออันตรายร้ายแรง ที่มีลักษณะของการเป็นโรคอุบัติใหม่หรือโรคติดต่ออุบัติซ้ำ ซึ่งต่อไปจะได้ไม่ต้องประกาศใช้พระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)
ในส่วนบทบัญญัติคุ้มครองบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ร่าง พ.ร.ก.ฯ กำหนดให้ยกเว้นความรับผิดให้แก่ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลใด ซึ่งได้รับมอบหมายหรือได้รับการร้องขอให้ช่วยเหลือ เจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ ‘ที่ปฏิบัติหน้าที่ในสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข’ เช่นเดียวกับในกรณีสถานการณ์ฉุกเฉินด้านสาธารณสุข (ครอบคลุมไปถึง ผู้ช่วย อสม. พนักงานกู้ภัย) นับตั้งแต่วันที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร คือ วันที่ 26 มีนาคม 2563
ข่าวน่าสนใจ:
- ทีดีอาร์ไอ จัดเวิร์คชอป “ CONTENT CREATOR WORKSHOP: SYNERGY FOR CLEAN ENERGY”
- "รัฐสภา" ร่วมสนับสนุนการแสดงโขนมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เรื่อง รามเกียรติ์ ตอน “พระจักราวตาร”
- ททท. จัดงานใหญ่ "วิจิตรเจ้าพระยา 2024" สวยงามตระการตา กระตุ้นการท่องเที่ยวส่งท้ายปีนี้
- รมว.ท่องเที่ยว ชวนลอยกระทง "สีสันแห่งสายน้ำฯ" สร้างสรรค์และใส่ใจสิ่งแวดล้อม
อย่างไรก็ตาม นางสาวรัชดา ยืนยันว่า ในร่างฯ พ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่มีเนื้อหาส่วนใดที่พูดถึงการนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่ระดับนโยบายหรือบริหาร ตามที่มีข้อคำถามอยู่
ทั้งนี้ การไม่ขยายเวลาการบังคับใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน สำหรับควบคุมดูแลสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ต่อไป จะส่งผลให้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินสิ้นสุดลง และยังจะทำให้ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ซึ่งตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มาตรา 7 วรรค 5 ต้องมีอันสิ้นสภาพไปด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: