X

ข่าวดี! ครม.เคาะเติมเงิน ‘คนละครึ่ง-บัตรคนจน’ พร้อมเพิ่มวงเงิน ‘ยิ่งใช้ยิ่งได้’

กรุงเทพฯ – ครม.อัดเงินกู้ 54,506 ล้านบาท ใส่ 4 โครงการกระทรวงการคลัง ช่วยลดค่าครองชีพ กระตุ้นเศรษฐกิจ จากพิษโควิด-19

วันที่ 19 ตุลาคม 2564 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบผลการพิจารณาของ คณะกรรมการฯ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพิ่มเติม พ.ศ.2564 โดยอนุมัติงบประมาณสำหรับ 4 โครงการ เพื่อส่งเสริมมาตรการลดค่าครองชีพ ซึ่งเสนอโดยกระทรวงการคลัง ดังนี้

1.อนุมัติงบประมาณ 8,122.3764 ล้านบาท สำหรับโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 3 ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้าเพิ่มเติมอีก 300 บาทต่อคนต่อเดือน เป็นระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2564) รวมเป็น 500 บาท ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม รวมเป็น 1,800 บาท ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย กลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 13 ล้าน 537,294 คน

2.อนุมัติงบประมาณ 1,383.8814 ล้านบาท สำหรับโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ช่วยเหลือวงเงินค่าซื้อสินค้า จำนวน 300 บาทต่อคนต่อเดือน ระยะเวลา 2 เดือน (เดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2564) รวมเป็น 500 บาทต่อคน ในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม และรวมเป็น 1,800 บาท

ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ เช่น ผู้ที่ไม่สามารถ เข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ต ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟน ผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง (ผู้สูงอายุ ผู้พิการ ทุพพลภาพ ผู้ป่วยติดเตียง) ผู้ที่ลงทะเบียนด้วยตนเองไม่สำเร็จเนื่องจากข้อมูลส่วนบุคคลไม่ถูกต้อง จำนวนไม่เกิน 2,306,469 คน

3.อนุมัติงบประมาณเพิ่มเติม 42,000 ล้านบาท สำหรับโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 โดยประชาชนได้รับสิทธิสนับสนุนค่าอาหาร เครื่องดื่ม และสินค้าและบริการทั่วไป รวมทั้งสามารถซื้ออาหารและเครื่องดื่มจากร้านอาหารและเครื่องดื่มที่เข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 3 ผ่านผู้ให้บริการระบบขนส่งอาหาร (Food Delivery Platform) ร้อยละ 50 ไม่เกิน 150 บาทต่อคนต่อวัน อีก 1,500 บาทต่อคน โดยจะสนับสนุนเพิ่มในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม รวมรัฐสนับสนุนวงเงินให้ 4,500 บาทต่อคน สำหรับการใช้จ่ายตลอดระยะเวลาโครงการ

ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ประชาชนทั่วไป สัญชาติไทยที่มีอายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป และไม่เป็นผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวนไม่เกิน 28 ล้านคน ประกอบด้วยผู้ลงทะเบียนใหม่และผู้ที่เคยได้รับสิทธิแล้ว

4.อนุมัติงบประมาณ 3,000 ล้านบาท สำหรับโครงการยิ่งใช้ยิ่งได้ แก่ประชาชนทั่วไปที่ไม่มีบัตรสวัสดิการของรัฐ ไม่ได้รับสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือไม่ใช้สิทธิโครงการคนละครึ่งระยะที่ 3 จำนวนไม่เกิน 1 ล้านสิทธิ โดยปรับเพิ่มหลักเกณฑ์ในการคำนวณการให้สิทธิสนับสนุน e-Voucher และเพิ่มวงเงินสนับสนุน e-Voucher จากเดิมไม่เกิน 7,000 บาท เป็น 10,000 บาทต่อคน ในเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคม 2564 ดังนี้

♦ สำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2564 คำนวณด้วยวิธีการเดิม
♦ สำหรับการใช้จ่ายตั้งแต่วันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564
♦ ผู้ได้รับสิทธิที่มียอดใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณ e-Voucher ไม่เกิน 60,000 บาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 จะได้รับสิทธิ ดังนี้

  • สำหรับยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 1-40,000 บาทแรก ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 10 ของยอดใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน
  • สำหรับยอดใช้จ่ายจริงตั้งแต่ 40,001-80,000 บาท ได้รับ e-Voucher ร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 6,000 บาทต่อคน สำหรับผู้ได้รับสิทธิที่มียอดใช้จ่ายที่จะนำมาคำนวณ e-Voucher เต็มจำนวน 60,000 บาท ณ วันที่ 31 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีสิทธิ ได้รับ e-Voucher จำนวน 7,000 บาท เรียบร้อยแล้ว จะมีสิทธิได้รับ e-Voucher เพิ่มเติม หากมีการใช้จ่ายเพิ่มเติม จำนวนไม่เกิน 20,000 บาท ในระหว่างวันที่ 1-30 พฤศจิกายน 2564 จะได้รับสิทธิ e-Voucher ร้อยละ 15 ของยอดใช้จ่ายเพิ่มเติม แต่ไม่เกิน 3,000 บาทต่อคนโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวด้วยว่า ทุกมาตรการ เป็นไปเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังจะฟื้นตัว อีกทั้งยังเป็นการช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการให้ลุกขึ้นได้ ทั้งนี้ จะทำให้กรอบวงเงินกู้ตามพระราชกำหนดฯ คงเหลือ 262,485.0671 ล้านบาท

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"