กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี ลงนามคำสั่งยกเลิก ‘เคอร์ฟิว’ พื้นที่นำร่องท่องเที่ยว 17 จังหวัด มีผล 23.00 น. คืนวันที่ 31 ต.ค.2564 เป็นต้นไป พร้อมเล็งเปิดสถานบันเทิงและสถานบริการ
เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 36) ระบุว่า
ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักรตั้งแต่วันที่ 26 มีนาคม พ.ศ.2563 และต่อมาได้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว ออกไปอย่างต่อเนื่องเป็นระยะนั้น
โดยที่การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในประเทศไทยมีแนวโน้มของสถานการณ์ คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้น ด้วยผู้ติดเชื้อรายใหม่มีจำนวนในระดับคงที่ต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลาหนึ่ง และผู้ได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติมีแนวโน้มเพิ่มจำนวนมากขึ้น รัฐบาลจึงเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องมีการฟื้นฟูประเทศเพื่อประโยชน์ด้านการใช้ชีวิตความเป็นอยู่และด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชน
ข่าวน่าสนใจ:
- นายกฯ ประชุมติดตามสถานการณ์อุทกภัยพื้นที่ภาคใต้ พร้อมสั่งการหน่วยงานช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัด นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี ชุมพร…
- นายกรัฐมนตรีติดตามสถานการณ์อุทกภัย ณ ที่ว่าการอำเภอท่าฉาง พร้อมมอบถุงยังชีพช่วยเหลือผู้ประสบภัย
- กฟผ.แม่เมาะ มอบความสุข สไตล์บาหลี อินโดนีเซีย ในงานฤดูหนาวและของดีนครลำปาง
- รมว.วธ. ยินดีกับ “หลานม่า”เข้ารอบชิงรางวัลออสการ์ครั้งที่ 97 เป็น 1 ใน 15 เรื่องสุดท้าย
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินพ.ศ.2548 และมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.2534 นายกรัฐมนตรีจึงออกข้อกำหนดและข้อปฏิบัติแก่ส่วนราชการทั้งหลายตามคำแนะนำของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) ดังต่อไปนี้
1.การกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้มีการกำหนดเขตพื้นที่นำร่อง (Sandbox) ด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อการดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคในพื้นที่แบบบูรณาการ โดยพิจารณาถึงความเหมาะสม ความพร้อม และบริบทของแต่ละพื้นที่ ทั้งนี้ เพื่อการบังคับใช้ให้เหมาะสมและเป็นการเฉพาะจากเขตพื้นที่จังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์
2.การกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวให้สถานที่ กิจการ หรือการดำเนินกิจกรรมในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด เช่น มาตรการป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร(Covid Free Setting) รวมทั้งมาตรการตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ
3.การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถานในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด จากการจำแนกจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ แต่ได้มีคำสั่งกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่นำร่อง ด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดนี้ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 นาฬิกา ของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2564
4.การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพรโรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คนในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว
5.การเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการเปิดเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ ที่ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวยังคงปิดดำเนินการไว้ก่อนในช่วงเวลานี้ โดยให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายมาตรการตามที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2564 เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ต่อไปตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะประกาศกำหนด
6.การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อกรุงเทพมหานคร หรือผู้ว่าราชการจังหวัดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด แล้วแต่กรณี เสนอต่อศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด – 19(ศปก.ศบค.) เพื่อตรวจสอบ กลั่นกรอง และเสนอนายกรัฐมนตรีให้พิจารณาปรับระดับความเข้มข้นหรือการผ่อนคลายของพื้นที่สถานการณ์ย่อยในระดับท้องที่หรือเขตอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่จังหวัด ในความรับผิดชอบของตนได้ตามความจำเป็นแห่งสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19ในห้วงเวลาต่าง ๆ
ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครหรือผู้ว่าราชการจังหวัด พิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 โดยสั่งปิด จำกัด หรือห้ามการดำเนินการของสถานที่ หรือสั่งให้งดการทำกิจกรรมอื่นในเขตพื้นที่รับผิดชอบซึ่งมีความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคเพิ่มเติมจากมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด – 19
7.การกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม เพื่อเอื้อต่อการเดินทางเข้าราชอาณาจักรของบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศต้นทางซึ่งได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด และได้มีการประสานความร่วมมือเพื่อดำเนินการตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ต้องเป็นผู้ซึ่งได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุขตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล
8.มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การกำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรในประเภทซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร เพื่อประโยชน์ด้านเศรษฐกิจควบคู่กับความมั่นคงด้านสาธารณสุข ตามแผนการเปิดประเทศของรัฐบาล ตามที่ได้เพิ่มเติมโดยข้อกำหนดนี้ เช่น การกำหนดประเทศหรือพื้นที่ซึ่งศูนย์ปฏิบัติการมาตรการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศอนุมัติ การมีหนังสือรับรองหรือหลักฐานการลงทะเบียนการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การได้รับวัคซีนป้องกันโรคครบตามเกณฑ์ การตรวจยืนยันว่าไม่มีเชื้อโรคโควิด-19 การมีกรมธรรม์ประกันภัยที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลตามเกณฑ์ที่กำหนด และหลักฐานการชำระค่าที่พัก ให้เป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ.2564 เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ.2564
พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรี
ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 นาฬิกา ของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2564
สำหรับพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ทั้งสิ้น 17 จังหวัด ประกอบด้วย
1.กรุงเทพมหานคร
2.จังหวัดกระบี่
3.จังหวัดชลบุรี (เฉพาะอำเภอบางละมุง เมืองพัทยา อำเภอศรีราชา อำเภอเกาะสีชัง และอำเภอสัตหีบ เฉพาะตำบลนาจอมเทียนและตำบลบางเสร่)
4.จังหวัดเชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอดอยเต่า อำเภอแม่ริม และอำเภอแม่แตง)
5.จังหวัดตราด (เฉพาะอำเภอเกาะช้าง)
6.จังหวัดบุรีรัมย์ (เฉพาะอำเภอเมืองบุรีรัมย์)
7.จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ (เฉพาะตำบลหัวหินและตำบลหนองแก)
8.จังหวัดพังงา
9.จังหวัดเพชรบุรี (เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ)
10.จังหวัดภูเก็ต
11.จังหวัดระนอง (เฉพาะเกาะพยาม)
12.จังหวัดระยอง (เฉพาะเกาะเสม็ด)
13.จังหวัดเลย (เฉพาะอำเภอเชียงคาน)
14.จังหวัดสมุทรปราการ (เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ)
15.จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เฉพาะเกาะสมุย เกาะพงัน และเกาะเต่า)
16.จังหวัดหนองคาย (เฉพาะอำเภอเมืองหนองคาย อำเภอสังคม อำเภอศรีเชียงใหม่ และ อำเภอท่าบ่อ)
17.จังหวัดอุดรธานี (เฉพาะอำเภอเมืองอุดรธานี อำเภอบ้านดุง อำเภอกุมภวาปี อำเภอนายูง อำเภอหนองหาน และอำเภอประจักษ์ศิลปาคม)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: