กรุงเทพฯ – หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ ประสานพลังวิชาการ 18 มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีราชการ ประชาสังคม และเอกชน พลิกฟื้นชีวิตคนจนกว่า 670,000 คน นำร่อง 20 จังหวัด
นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ระบุว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงทั้งทางเศรษฐกิจและสังคม บพท.จึงมีความคิดส่งเสริมให้มีนำวิชาความรู้จากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เข้าไปช่วยเหลืออย่างเป็นระบบ โดยร่วมงานกับมหาวิทยาลัย 18 แห่ง ดำเนินโครงการนำร่องใน 20 จังหวัด ตามแผนงานวิจัยและนว้ตกรรม เพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ โดยใช้ชุดข้อมูลแผนที่ความยากจนประเทศไทย (Thai Poverty Map-TP Map) ที่สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็คทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) จัดทำร่วมกัน และชุดข้อมูลความจำเป็นพื้นฐาน (จปฐ.) ของกรมการพัฒนาชุมชน เป็นฐานการทำงาน
ทั้งนี้ บพท.ได้พัฒนากระบวนการค้นหาสอบทานคนจนที่ตกหล่นจากระบบ เพื่อเป็นข้อมูลเชิงลึก (deep data) 5 ด้าน ได้แก่ ทุนมนุษย์ ทุนสังคม ทุนการเงิน ทุนกายภาพ ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม วิเคราะห์และจำแนกกลุ่มเป้าหมายคนจนเป็น 4 ระดับ คือ ระดับอยู่ลำบาก อยู่ยาก พออยู่ได้ และอยู่ได้ ซึ่งเป็นเสมือนการตรวจเอ็กซเรย์เพื่อแก้ปัญหาได้ตรงตามสาเหตุ กระบวนการค้นหาดำเนินการโดยมหาวิทยาลัย 18 แห่ง ร่วมกับกลไกภาครัฐ ภาคประชาสังคม และขบวนองค์กรชุมชน ข้อค้นพบที่น่าสนใจ คือ กลไกการมีส่วนร่วมส่งผลต่อการช่วยเหลือเร่งด่วน สำหรับคนจนที่เป็ผู้ป่วย คนชรา คนพิการ เป็นระบบส่งต่อลำดับแรก
ต่อจากนั้นจะมีระบบส่งต่อในปัญหาสำคัญอื่น ๆ เช่น ปัญหาที่อยู่อาศัย จะเข้าสู่โครงการบ้านพอเพียงของสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน ปัญหาการศึกษาส่งต่อสู่กองทุนเสมอภาคทางการศึกษา ปัญหาสาธารณูปโภคส่งต่อหน่วยงานในพื้นที่ทีรับผิดชอบ ฯลฯ รวมทั้งโครงการพัฒนานวัตกรรมแก้จนในหลากหลายรูปแบบที่สอดคล้องกับบริบทและสภาพปัญหา เช่น การสร้างมูลค่าเพิ่มสินค้าเกษตร การพัฒนาผลตอบแทนบริการระบบนิเวศน์ (pay for eco system) สำหรับคนจนอนุรักษ์ป่า การยกระดับระบบสวัสดิการชุมชนให้ขยายบริการครอบคลุมคนจน การพัฒนาระบบน้ำเพื่อการเกษตร เป็นต้น
ข่าวน่าสนใจ:
- ครัวคุณต๋อยยกทัพ บุกขอนแก่น จับมือศูนย์การค้าเซ็นทรัล ขอนแก่น ขนร้านอาหารชื่อดังนับร้อย มาเสิร์ฟสายกิน 11 วันเต็ม 14 - 24 พ.ย.นี้
- สมเด็จพระสังฆราช โปรดประทานผ้าพระกฐินทอดถวาย ณ วัดเขาไกรลาศ หัวหิน
- ‘นครพนม’ เดินหน้าขับเคลื่อน ‘นครพนมโมเดล’ ป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อให้ประชาชนมีความสุขที่สุด
- ลิงหัวหินย้ายบ้านแล้ว 203 ตัว เพื่อความปลอดภัยประชาชนและคุณภาพชีวิตที่ดีของลิง
ส่วนสำคัญอีกเรื่อง คือ การนำส่งระบบข้อมูลคนจนและโครงการแก้จนเข้าสู่ระบบแผนพัฒนาท้องถิ่น หรือแผนพัฒนาจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานแก้ไขปัญหาความยากจนเกิดความต่อเนื่องโดยหน่วยงานรัฐในพื้นที่
ด้าน นายแมน ปุโรธกานนท์ หัวหน้าแผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ บพท. เปิดเผยว่า การเดินสำรวจเคาะประตูบ้านในพื้นที่นำร่องดังกล่าว สร้างโอกาสการเรียนรู้สภาพปัญหาอย่างชัดเจน และทำให้สามารถค้นพบคนจนที่ตกสำรวจเป็นจำนวน 336,239 คน ซึ่งเมื่อสมทบกับตัวเลขคนจนตามชุดข้อมูล จปฐ.และแผนที่ความยากจนประเทศไทย จะมีจำนวนคนจนรวมกันถึง 676,085 คน
“เราได้จำแนกกลุ่มคนจนในจังหวัดนำร่องออกเป็น 4 ระดับ คือ ระดับสีแดง เป็นกลุ่มคนจนประเภทอยู่ลำบาก สีส้ม เป็นกลุ่มคนจนประเภทอยู่ยาก สีเหลือง เป็นกลุ่มคนจนประเภทพออยู่ได้ และสีเขียว เป็นกลุ่มคนจนประเภทอยู่ได้ คนจนใน 20 จังหวัดนำร่อง เป็นคนจนระดับสีส้ม มากที่สุดคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39 รองลงมาเป็นคนจนระดับสีเหลือง ร้อยละ 29 และคนจนระดับสีแดง ร้อยละ 26 ขณะที่คนจนระดับสีเขียว ร้อยละ 6 “ นายแมน กล่าว
เมื่อจัดแบ่งประเภทของปัญหาพบว่า คนจนส่วนใหญ่มีปัญหาขาดแคลนทุนกายภาพคือขาดที่ทำกินมากที่สุด รองลงมาคือปัญหาขาดแคลนทุนมนุษย์ ได้แก่ พื้นฐานการศึกษาที่มีอยู่อย่างจำกัดและพื้นฐานด้านสุขภาพอนามัย และถัดลงไปคือปัญหาขาดแคลนทุนธรรมชาติ ได้แก่ การที่ต้องประสบภัยธรรมชาติซ้ำซาก ทั้งน้ำท่วม ฝนแล้ง หรือพายุ ส่วนปัญหาขาดแคลนทุนทรัพย์ และปัญหาขาดแคลนโอกาสการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐอยู่ในลำดับรั้งท้าย
หัวหน้าแผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ บพท. กล่าวต่อว่า การช่วยเหลือจึงต้องออกแบบให้สอดคล้องกับระดับความเข้มข้นและเหตุปัจจัยของความจน เช่น กลุ่มสีแดง เป็นกลุ่มที่ต้องเร่งประสานเชื่อมต่อเข้ากับระบบสวัสดิการของรัฐให้เร็วที่สุด ขณะที่คนจนกลุ่มสีส้ม จะเน้นการพัฒนาทักษะความรู้ในการประกอบอาชีพ ส่วนคนจนกลุ่มสีเหลือง จะเน้นการช่วยแสวงหาที่ ทำกิน และแหล่งทุน เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้น ขณะที่คนจนกลุ่มสีเขียว จะเน้นการสร้างหลักประกันความมั่นคงด้านอาชีพ และทักษะการจัดการทางการเงิน เพื่อความมั่นคงยั่งยืนในการดำรงชีวิต
สำหรับ 20 จังหวัดนำร่องที่ บพท.เข้าไปมีบทบาทแก้ไขปัญหาความยากจน ภายใต้แผนงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ประกอบด้วย กาฬสินธุ์ อำนาจเจริญ สกลนคร ศรีสะเกษ สุรินทร์ ยโสธร มุกดาหาร ชัยนาท แม่ฮ่องสอน ปัตตานี อุบลราชธานี บุรีรัมย์ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา เลย พัทลุง ยะลา นราธิวาส พิษณุโลก และลำปาง
ส่วน 18 มหาวิทยาลัยหรือวิทยาลัย ที่ร่วมสานพลังแก้ปัญหาคนจนสู้ภัยโควิด ได้แก่ มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร มหาวิทยาลัยราชภัฏศรีสะเกษ มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์ วิทยาลัยชุมชนยโสธร วิทยาลัยชุมชนมุกดาหาร สถาบันวิทยาลัยชุมชน(กรุงเทพ) วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (วิทยาเขตปัตตานี) มหาวิทยาลัยราชภัฏบุรีรัมย์ มหาวิทยาลัยราชภัฏร้อยเอ็ด มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา มหาวิทยาลัยทักษิณ (วิทยาเขตพัทลุง) มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มหาวิทยาลัยราชภัฏนราธิวาสราชนครินทร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร และมหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: