กรุงเทพฯ – ศบค.เผย ผู้ที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกา รวม 786 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม เสี่ยงสูง 333 คน เสี่ยงต่ำ 453 คน เร่งติดตามตัวตรวจซ้ำ ส่วนคลัสเตอร์ใหม่พบอีก 7 คลัสเตอร์
วันที่ 3 ธันวาคม 2564 แพทย์หญิงสุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์กลายพันธุ์ ‘โอมิครอน’ ว่า วันนี้ มีรายงานพบใน 39 ประเทศ โดยประเทศที่พบเพิ่มเติม คือ กานา นอร์เวย์ ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส ไอร์แลนด์ สหรัฐอเมริกา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และซาอุดิอาระเบีย โดยทั้ง 39 ประเทศ ส่วนใหญ่เป็นการพบจากการนำเข้าจากต่างประเทศ เช่น สหรัฐฯ พบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากทวีปแอฟริกาใต้ เข้าไปที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซาอุดิอาระเบียพบผู้ติดเชื้อที่มาจากแอฟริกาตอนเหนือ ส่วนในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เป็นผู้ที่เดินทางมาจากอาหรับ และเป็นรายแรกของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย
อย่างไรก็ตาม ในจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนใน 39 ประเทศ คิดแล้วก็ยังไม่ถึง 1% ของผู้ติดเชื้อในประเทศนั้น ๆ แสดงว่ายังไม่มีการติดเชื้อนี้ในประเทศกันเอง
ข่าวน่าสนใจ:
- "ประชาธรรม" ร่วม "LANNER" จัดอบรมสื่อฯ โครงการ Activist Journalist รุ่น Glocal Journalist
- มหัศจรรย์แห่งดาว สุกสกาวความสุข เทศกาลแห่ดาวคริสต์มาส ค.ศ.2024 ท่าแร่ สกลนคร
- ชัยภูมิปล่อยแถวระดมกวาดล้างอาชญากรรมทุกรูปแบบช่วงคริสต์มาส-เทศกาลต้อนรับปีใหม่!
- ชาวบ้านห้วยแถลงเดือดบุกร้องเจ้าคณะจังหวัดนครราชสีมา หลังคืนตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทั้งที่ยังมีคดียักยอกเงินวัดเบิกเข้าบัญชีส่วนตัว
แพทย์หญิงสุมนี กล่าวต่อว่า สำหรับมาตรการป้องกันการติดเชื้อโอมิครอนในบ้านเรา มีการออกประกาศ งดรับนักเดินทางจาก 8 ประเทศกลุ่มเสี่ยง ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ส่วนผู้ที่เดินทางมาก่อนหน้านี้ มีการติดตามมาเป็นระยะ ทั้งผู้ที่เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกา ช่วงวันที่ 15-27 พ.ย. และ 15 พ.ย.-5 ธ.ค.2564 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม
กลุ่มแรกมาจากกลุ่มเสี่ยงสูง 8 ประเทศ ที่เดินทางมาในช่วง 15-27 พ.ย. มีทั้งหมด 333 คน ในจำนวนนี้เข้ามาทางกรุงเทพฯ และภูเก็ต แบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรกคือผู้ที่ออกจากประเทศไทยไปแล้ว มี 61 คน, กลุ่มกักตัวครบ 14 วัน ไม่ต้องตามแล้ว มี 105 คน และกลุ่มยังไม่ครบ 14 วัน หลังออกจากแซนด์บ็อกซ์ หรือสถานที่กักกันตัว มีทั้งหมด 167 คน
กลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่จะต้องติดตามเพื่อให้มาตรวจ RT-PCR ซ้ำ โดยส่งข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) ให้คนกลุ่มนี้เข้ามาตรวจซ้ำอย่างเร็วที่สุด ในสถานบริการใกล้บ้าน โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งใน 167 คนนี้ตามตัวได้แล้ว 44 คน และล่าสุดมีรายงานว่ามาถึง 50 คนแล้ว ส่วนที่เหลืออีก 133 คน ยังติดตามกันอยู่อย่างต่อเนื่องทุกช่องทาง
นอกจากนี้ ศบค.ยังกำชับให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ติดตามให้โรงแรมที่เปิดรับนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ กำชับให้ลงทะเบียนแอปพลิเคชันหมอชนะ เพราะเป็นช่องทางหนึ่งในการติดตามผลการตรวจ RT-PCR และสามารถติดตามอาการในแต่ละวันได้ด้วย
ส่วนผู้ที่มาจากกลุ่มประเทศเสี่ยงต่ำ คือ มาจากประเทศอื่นในทวีปแอฟริกา มี 453 คน กลุ่มนี้ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ นอกจากต้องติดตามตัวเองภายใน 14 วัน หลังออกจากการกักตัวหรือแซนด์บ็อกซ์ ถ้ามีอาการถึงค่อยไปตรวจ รวม 2 กลุ่มในประเทศทวีปแอฟริกา มี 786 คน
พบ 7 คลัสเตอร์ใหม่ ดังนี้
– สถานประกอบการ พบที่เชียงใหม่ นครราชสีมา เพชรบุรี นครศรีธรรมราช ระยอง ปราจีนบุรี และ กทม.
– ตลาด พบที่ แม่ฮ่องสอน ขอนแก่น ร้อยเอ็ด ลพบุรี สมุทรสาคร และตราด
แคมป์คนงาน พบที่ ปราจีนบุรี เชียงใหม่
– พิธีกรรมและประเพณี พบการติดเชื้อในงานศพ ที่นราธิวาส ขอนแก่น ยโสธร หนองคาย
– สถานศึกษา โรงเรียน พบที่ร้อยเอ็ด ยะลา ตราด และอุบลราชธานี
– ค่ายทหาร พบที่ สงขลา ลพบุรี และชลบุรี
– ร้านอาหาร-สถานบันเทิง พบที่อุบลราชธานี
แพทย์หญิงสุมนี กล่าวต่อว่า ทุกคลัสเตอร์ที่รายงานในวันนี้ อยู่ในหลักหน่วยหรือหลักสิบเท่านั้น แต่ขอให้เคร่งครัดภายใต้มาตรการความปลอดภัย ในสถานที่ต่าง ๆ หรือ Covid Free Setting หรือถ้าให้ดีควรจะยกระดับเป็น SHA+ ไปเลย เพื่อช่วยเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้มากขึ้น สำหรับเทศกาลลอยกระทง ไม่พบผู้ติดเชื้อ เป็นผลมาจากมาตรการควบคุมทั้ง ของกระทรวงสาธารณสุข สถานประกอบการ ผู้ประกอบการ และประชาชนทั่วไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: