อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง คือ ที่ตั้งของแหล่งผลิตไฟฟ้าที่สำคัญของภาคเหนือ ทั้งเหมืองแม่เมาะและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ซึ่งได้ดำเนินงานในพื้นที่อำเภอแม่เมาะมากว่า 40 ปี จนผสานกันเป็นหนึ่งเดียวกับชุมชนแม่เมาะ จำนวน 5 ตำบล 44 หมู่บ้าน รวมประชากรทั้งหมดกว่า 30,000 คน
ปัจจุบัน เหมืองแม่เมาะและโรงไฟฟ้า มีส่วนช่วยส่งเสริมอาชีพ และการจ้างงาน รวมถึงเศรษฐกิจในภาพรวมของจังหวัดกว่าร้อยละ 20 ผ่านการดำเนินงานตามภารกิจของ กฟผ. และงบประมาณกองทุนพัฒนาไฟฟ้า รวมถึงยังมีส่วนช่วยพัฒนาชุมชนแม่เมาะให้กินดีอยู่ดี
แต่ทว่าในอนาคตปี 2594 เหมืองถ่านหินและโรงไฟฟ้าแม่เมาะจะต้องถูกปิดตัวลงตามอายุการใช้งาน อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งด้านเศรษฐกิจ ธุรกิจ และการท่องเที่ยว รวมถึงงบประมาณจากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่จะหายไป
จะเกิดอะไรขึ้น เมื่ออำเภอแม่เมาะ ไม่มีเหมืองและโรงไฟฟ้าแม่เมาะ !!
ข่าวน่าสนใจ:
ชุมชนอำเภอแม่เมาะ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึง กฟผ. จึงลุกขึ้นมาจับมือร่วมกันศึกษาแนวคิดที่จะพลิกโฉมให้ อำเภอแม่เมาะ กลายเป็นเมืองน่าอยู่เชิงนิเวศ (Eco Town) โดยสนับสนุนวิสาหกิจชุมชนและวิสาหกิจเพื่อสังคมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยี ทำให้ชุมชนสามารถพึ่งพาตนเองได้ในระยะยาว มีสิ่งแวดล้อมที่ดีเหมาะแก่การอยู่อาศัยอย่างยั่งยืนภายหลังการปิดเหมืองและโรงไฟฟ้าไปแล้ว ภายใต้โครงการ แม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ที่ดึงให้ ‘ทุกคนในชุมชน’ มาร่วม คิด และ ขับเคลื่อน ด้วยมือของชุมชนเอง ผ่าน 3 แนวคิด คือ พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) และ เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
ด้วยการร่วมกันเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง ทำให้แม่เมาะเมืองน่าอยู่ ได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 เมืองอัจฉริยะของประเทศ และได้รับมอบตราสัญลักษณ์รับรองจากคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2564 ที่ผ่านมา
1.พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy)
แน่นอนว่า เมื่อเป็นพื้นที่ตั้งของแหล่งผลิตพลังงานสำคัญของภาคเหนือ การพัฒนาด้านพลังงานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่ขาดไม่ได้ ด้วยแนวคิด พลังงานอัจฉริยะ (Smart Energy) ที่ได้นำเอาเทคโนโลยีทันสมัยมาบริหารจัดการพลังงานในพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมส่งเสริมพลังงานทดแทนมาใช้ในพื้นที่ให้มากขึ้น
เริ่มแรก กฟผ. มีการติดตั้ง Solar Rooftop ขนาด 60 กิโลวัตต์ ในศูนย์ฝึกอบรม กฟผ. เเม่เมาะ ทำให้เกิดการผลิตเเละใช้พลังงานทดเเทน มากกว่า 30% ของพื้นที่อาคารใน กฟผ. เเม่เมาะ เเละถือเป็นการพัฒนาอาคารต้นเเบบ Near Zero Energy Building อีกด้วย รวมทั้งได้ติดตั้งมิเตอร์อัจฉริยะ เพื่อศึกษาพฤติกรรมการใช้พลังงานของอาคารแฟลตพนักงานในพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะ มากกว่า 100 ครัวเรือน และยังได้มีการศึกษาโครงการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์มาใช้ทดแทนในอนาคต
นอกเหนือจากการพัฒนาพลังงานในพื้นที่ กฟผ. แม่เมาะแล้ว ได้มีการทดสอบโครงการ Biomass Co-Firing เพื่อรับซื้อพืชชีวมวลจากวิสาหกิจชุมชนเเละเครือข่าย นำมาผลิตเป็นเม็ดชีวมวล (Biomass Pellet) สำหรับส่งไปเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าให้กับโรงไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างระบบบริหารจัดการชีวมวลแบบครบวงจร ทำให้ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้นจากวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
และที่ขาดไม่ได้ คือการส่งเสริมการใช้ยานยนต์รักษาสิ่งแวดล้อม (Eco Vehicles) ในอำเภอแม่เมาะ อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า (EV Charging Station) และรถมินิบัส EV (Electric Vehicle) ไว้บริการนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ เพื่อช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ในพื้นที่ 2.สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)
สิ่งแวดล้อม เป็นเรื่องที่ทั่วโลกต่างให้ความสำคัญมากที่สุดในขณะนี้ แม่เมาะเมืองน่าอยู่ก็เช่นกัน
แนวคิดด้าน สิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment) ได้พยายามที่จะรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี ให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืนเป็นหลักใหญ่ และด้วยแนวคิดว่า เมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีจะทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น จึงได้เดินหน้าเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้เกิดขึ้นในชุมชน ทั้งการสนับสนุนการจัดตั้งป่าชุมชน ซึ่งสามารถผลักดันหมู่บ้านเข้าร่วมโครงการมากกว่า 30% ของหมู่บ้านในอำเภอแม่เมาะ คิดเป็นพื้นที่ป่ามากกว่า 30,000 ไร่ และยังมีการปลูกป่าในพื้นที่ฟื้นฟูสภาพเหมือง รวมแล้วช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) มากกว่า 100,000 ตันต่อปี
นอกจากนี้แล้ว ยังได้เปิดโอกาสให้ชุมชนและประชาชนทั่วไปได้เข้ามาดูงานได้ที่ ศูนย์ศึกษาและพัฒนาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง กฟผ. แม่เมาะ และศูนย์การเรียนรู้การปลูกป่าตามศาสตร์พระราชา ในพื้นที่ฟื้นฟูสภาพเหมือง 200 ไร่
ส่วนปัญหาหมอกควันที่มักเกิดขึ้นในช่วงฤดูหนาวซึ่งส่วนมากจะเกิดจากการเผาวัชพืชและเศษใบไม้แห้งเพื่อเตรียมพื้นที่การเกษตรเป็นประจำทุกปี กฟผ. จึงได้พัฒนาระบบประเมินปริมาณฝุ่นและคุณภาพอากาศจำลองขึ้นมารองรับ รวมถึงมีระบบรายงานข้อมูลผลการตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมของ กฟผ. แม่เมาะ แบบออนไลน์ และพัฒนาแอปพลิเคชัน “Lampang Hotspot” รายงานสถานการณ์หมอกควันและไฟป่าในจังหวัดลำปาง เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทีมดับไฟป่าใช้ในการเฝ้าระวังพื้นที่เกิดเหตุได้อย่างทันท่วงที และเพื่อให้ประชาชนได้เตรียมรับมือและปฏิบัติตัวให้เหมาะกับสภาพอากาศ เป็นหนึ่งในแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาทางด้านสุขภาพของคนลำปางทุกคน
3.เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy)
แนวคิดด้าน เศรษฐกิจอัจฉริยะ (Smart Economy) เป็นเรื่องของปากท้อง ที่มีความสำคัญไม่แพ้ด้านอื่น
ชุมชนแม่เมาะ มีสินค้าและบริการที่เป็นเอกลักษณ์อยู่แล้ว กฟผ. จึงเข้าไปช่วยพัฒนาสินค้าหรือบริการ และการตลาด ด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมร่วมกับคนในชุมชน ภายใต้ชื่อ “แม่เมาะแบรนด์” ขนานไปกับการเพิ่มช่องทางการขายสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ให้มากขึ้น
นอกจากสินค้าของชุมชนแล้ว ยังนำวัตถุพลอยได้ของ กฟผ. แม่เมาะ มาสร้างมูลค่าเพิ่มและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การวิจัยและพัฒนายิปซัมสังเคราะห์ เพื่อเป็นวัสดุปรับปรุงดินในการเกษตร ซึ่งมีปริมาณมากกว่า 500,000 ตันต่อปี และส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน ในการนำลีโอนาไดท์ (Leonadite) จากเหมืองแม่เมาะมาใช้หรือแปรรูปจำหน่ายเป็นปุ๋ยฮิวมัส สร้างรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนท้องถิ่น
อีกประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือด้านการท่องเที่ยว ซึ่งอำเภอแม่เมาะ ถือเป็นจุดหมายปลายทางหลัก ที่เมื่อมาเยี่ยมเยือนจังหวัดลำปางแล้วต้องห้ามพลาด โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว จึงได้ส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชน ด้วยการพัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ให้เป็นที่รู้จักและดึงดูดนักท่องเที่ยวจากทั่วสารทิศ โดยตั้งเป้าให้มีจำนวนนักท่องเที่ยว มากกว่า 100,000 คนต่อปี ในปี 2565
และนี่คือจุดเริ่มต้นของการพัฒนาให้แม่เมาะเป็นเมืองที่น่าอยู่ ที่พร้อมจะตอบสนองความต้องการของชุมชนอำเภอแม่เมาะให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี มีความสุขอย่างยั่งยืน ด้วยการขับเคลื่อนของชุมชนเอง
ในอนาคต ชุมชนอำเภอแม่เมาะ กฟผ. และจังหวัดลำปาง มีแนวคิดที่จะร่วมกันผลักดันให้จังหวัดลำปาง ก้าวเข้าสู่การเป็นลำปางสมาร์ทซิตี้ (Lampang Smart City) ซึ่งสอดรับกับแนวคิดการพัฒนาประเทศไทยสู่สมาร์ทซิตี้ หรือเมืองอัจฉริยะของรัฐบาล ที่มุ่งกระจายความเจริญสู่พื้นที่ภูมิภาค ด้วยการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรม มาพัฒนาให้เมืองน่าอยู่ ทันสมัย มีเศรษฐกิจที่เติบโต ประชาชนดำเนินชีวิตอยู่ในเมืองของตนเองได้อย่างมีสุขภาวะและยั่งยืน ซึ่งผลลัพธ์ทั้งหมดนี้ จำเป็นจะต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจของคนในจังหวัดออกแบบและพัฒนาเมืองด้วยตัวเองเพื่อเดินหน้าสู่สมาร์ทซิตี้ไปด้วยกัน
ท้ายที่สุดแล้ว แม่เมาะเมืองน่าอยู่ และลำปางสมาร์ทซิตี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นให้กับอีกหลายๆ เมือง ในการเดินหน้าพัฒนาให้เกิดสมาร์ทซิตี้ จนสามารถขยายต่อไปยังทั่วทุกเมืองในประเทศ ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น จะทำให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายของการพัฒนาประเทศสู่ “ไทยแลนด์สมาร์ทซิตี้ (Thailand Smart City)” ได้ในอนาคต
สำหรับผู้ที่สนใจข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าชมนิทรรศการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ได้ที่พิพิธภัณฑ์ศูนย์ถ่านหินลิกไนต์ศึกษา (เหมืองแม่เมาะ) ฯ หรือชมนิทรรศการเสมือนจริง virtual 360 องศา ผ่านทางเว็บไซต์: เทศกาลท่องเที่ยวแม่เมาะ https://maemoh-festival.egat.co.th/
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: