กรุงเทพฯ – ศปถ. สรุป 3 ม.ค.65 เกิดอุบัติเหตุ 264 ครั้ง เสียชีวิต 34 ราย บาดเจ็บ 274 คน ส่วน 6 วัน (29 ธ.ค.64-3 ม.ค.65) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,488 ครั้ง เสียชีวิต 300 ราย บาดเจ็บรวม 2,471 คน ประสานสนธิกำลังตำรวจและอาสาสมัคร เข้มข้นปฏิบัติงานจุดตรวจ
วันที่ 4 มกราคม 2565 นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร รองปลัดกระทรวงมหาดไทย หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านสาธารณภัยและพัฒนาเมือง ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจ ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี (ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์) รางานสถิติอุบัติเหตุทางถนนประจำวันที่ 3 มกราคม 2565 ซึ่งเป็นวันที่ 6 ของการรณรงค์ ‘ชีวิตวิถีใหม่ ขับขี่อย่างปลอดภัย ไร้อุบัติเหตุ’
เกิดอุบัติเหตุ 264 ครั้ง ผู้เสียชีวิต 34 ราย ผู้บาดเจ็บ 274 คน สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ขับรถเร็ว ร้อยละ 35.61 ดื่มแล้วขับ ร้อยละ 18.94 ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 83.03 รองลงมา คือ รถปิกอัพ/กระบะ ร้อยละ 6.64 อุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 79.55 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 40.91 ถนนใน อบต./หมู่บ้านร้อยละ 36.74 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด 16.01-17.00 น. ร้อยละ 9.09 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุด อยู่ในช่วงอายุ 40-59 ปี ร้อยละ 15.58
ทั้งนี้ ได้จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,905 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 61,730 คน เรียกตรวจยานพาหนะ 437,936 คัน มีผู้ถูกดำเนินคดี 91,546 ราย ความผิดฐานไม่สวมหมวกนิรภัย 26,248 ราย ไม่มีใบขับขี่ 23,253 ราย จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด กาญจนบุรี (15 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานครและจันทบุรี (จังหวัดละ 3 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด กาญจนบุรี (16 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 52 จังหวัด
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม ช่วง 6 วันของการรณรงค์ (29 ธ.ค.64-3 ม.ค.65) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,488 ครั้ง ผู้เสียชีวิตรวม 300 ราย ผู้บาดเจ็บรวม 2,471 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด เชียงใหม่ (92 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด กรุงเทพมหานคร (20 ราย) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด กาญจนบุรี (91 คน) จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิตในช่วง 6 วันของการรณรงค์ มี 11 จังหวัด ได้แก่ ตรัง นครนายก ปัตตานี พังงา แพร่ แม่ฮ่องสอน ยะลา ระนอง สตูล สมุทรสงคราม และสุโขทัย
ข่าวน่าสนใจ:
- ปัญหาที่ท้าทายของ “กรมชลประทาน” กับการบริหารจัดการน้ำ รวมถึงแจ้งเตือนการเกิดอุทกภัยใน “พื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง”
- ตรัง ราคายางดิ่งกว่า 20 บาทต่อกิโลกรัม กยท.หนุนสถาบันทำโครงการชะลอยางสู้นายทุน
- มทภ.4 ย้ำผู้นำท้องที่ คือกำลังหลักในการแก้ปัญหา จชต.
- ท่องเที่ยว ประจวบฯ-เพชรบุรี เติบโตต่อเนื่อง คาดคริสต์มาส และเทศกาลปีใหม่ ท่องเที่ยวคึกคักส่งท้ายปี
ด้านนายบุญธรรม เลิศสุขีเกษม อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ในฐานะเลขานุการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) คาดว่าเส้นทางสายหลักจะยังมีปริมาณการจราจรหนาแน่นในบางจุด จึงเน้นย้ำให้จังหวัดดูแลความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชนต่อเนื่อง สนธิกำลังตำรวจและอาสาสมัครเข้มข้นการปฏิบัติงานของจุดตรวจบนเส้นทางสายหลัก สายรอง ทางลัด และทางเลี่ยงเมือง เพื่ออำนวยการจราจรและดูแลความปลอดภัยแก่ประชาชนตลอดเส้นทาง พร้อมกวดขันตามหลัก ‘4 ห้าม 2 ต้อง คือ ห้ามดื่ม ห้ามเร็ว ห้ามง่วง ห้ามโทร ต้องสวมหมวกนิรภัย และต้องคาดเข็มขัดนิรภัย’ เพื่อคุมเข้มพฤติกรรมเสี่ยงอุบัติเหตุ
ขอฝากผู้ใช้รถใช้ถนนปฏิบัติตามกฎหมายจราจรอย่างเคร่งครัด และมีน้ำใจต่อผู้ร่วมใช้เส้นทาง เพื่อให้เดินทางถึงจุดหมายอย่างปลอดภัย ท้ายนี้ ประชาชนที่ประสบหรือพบเห็นอุบัติเหตุ สามารถแจ้งเหตุได้ทางสายด่วนนิรภัย 1784 หรือแจ้งเหตุทางไลน์ ‘ปภ.รับแจ้งเหตุ1784’ โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: