กรุงเทพฯ – อธิบดีกรมปศุสัตว์ ประกาศ ‘เขตโรคระบาด’ หลังตรวจพบโรค ASF 1 ตัวอย่าง ในหมู ที่โรงฆ่าสัตว์ใน จ.นครปฐม พร้อมควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 ก.ม. และทำลายสุกรต้องสงสัยว่าเป็นโรค เพื่อควบคุมโรคโดยเร็ว วอน อย่าตระหนก ไม่ติดต่อสู่คน ยังบริโภคเนื้อหมูได้อย่างปลอดภัย
วันที่ 11 มกราคม 2565 น นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านวิชาการป้องกัน ควบคุม และกำจัดโรค ASF ในสุกร ระบุว่า ตามที่มีการนำเสนอข่าวในสื่อสังคมออนไลน์ ถึงข้อมูลพบรายงานสถานการณ์การเกิดโรค African Swine Fever (ASF) ในสุกร ซึ่ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สั่งการเร่งด่วนให้กรมปศุสัตว์เร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงและรายงานโดยเร็ว ซึ่งกรมฯ ไม่ได้นิ่งนอนใจ และจัดชุดเฉพาะกิจลงตรวจสอบสภาวะโรคในพื้นที่เสี่ยง สุ่มตรวจสอบเพิ่มเติมโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสุกรหนาแน่น มาระยะหนึ่งแล้ว ตั้งแต่วันที่ 8-9 ม.ค.65 รวม 10 ฟาร์ม 305 ตัวอย่าง และโรงฆ่าสัตว์ 2 แห่ง 4 ตัวอย่าง
วันที่ 8 มกราคม สุ่มใน จ.ราชบุรี เฝ้าระวังและเก็บตัวอย่าง 6 ฟาร์ม รวม 196 ตัวอย่าง ส่วนวันที่ 9 ม.ค. สุ่มใน จ.นครปฐม 4 ฟาร์ม 109 ตัวอย่าง และ 2 โรงฆ่า 4 ตัวอย่าง รวม 113 ตัวอย่าง ทั้งสำรวจโรคและเก็บตัวอย่างจากเลือดสุกรที่ฟาร์ม และจากบนพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์ นำส่งวิเคราะห์ที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติ ซึ่งเป็นห้องปฏิบัติการของกรมปศุสัตว์
ผลเบื้องต้น จากทั้งหมด 309 ตัวอย่าง พบเป็นลบจำนวน 308 ตัวอย่าง และพบผลบวกเชื้อ ASF 1 ตัวอย่าง จากตัวอย่างพื้นผิวสัมผัสบริเวณโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่ง ที่มาจากนครปฐม ชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่เข้าสอบสวนโรคทางระบาดวิทยาถึงแหล่งที่มาของสุกรและสาเหตุ เพื่อควบคุมโรคโดยเร็วต่อไป เพื่อลดผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการเลี้ยงสุกรให้เกิดขึ้นน้อยที่สุด
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต กล่าวต่อว่า การดำเนินงานหลังตรวจพบโรคในประเทศ กรมปศุสัตว์ต้องประกาศเป็นเขตโรคระบาด และควบคุมการเคลื่อนย้ายในรัศมี 5 กิโลเมตร รอบจุดที่พบโรค ร่วมกับจะต้องพิจารณาทำลายสุกรที่มีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรค หรือมีความเชื่อมโยงทางระบาดวิทยากับฟาร์มที่เป็นโรค และจ่ายค่าชดใช้ราคาสุกรที่ถูกทำลาย
สำหรับการดำเนินงานในพื้นที่อื่น ๆ ที่ไม่อยู่ในรัศมีการควบคุมโรค การเคลื่อนย้ายสุกรทุกวัตถุประสงค์จะต้องได้รับอนุญาตจากสัตวแพทย์ โดยคำนึงถึงเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด ส่วนการขออนุญาตนำสุกรเข้ามาเลี้ยง ต้องได้รับการอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ ขณะเดียวกัน กรมปศุสัตว์จะต้องแจ้งการพบโรคไปยัง องค์การสุขภาพสัตว์โลก (OIE) เพื่อแจ้งเตือนให้ประเทศสมาชิกทราบต่อไป
ทั้งนี้ ได้ประชุมคณะกรรมการวิชาการป้องกันควบคุมโรค ASF แล้ว เพื่อทราบผลการตรวจพบเชื้อ ASF จาก 1 ตัวอย่าง ที่เก็บมาจากโรงฆ่าสัตว์แห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม นอกจากนี้ ยังประสานหารือและทำความเข้าใจกับหน่วยงานภาคีต่าง ๆ เช่น สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ภาคีคณบดี คณะสัตวแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย สัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มสุกร และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอความร่วมมือในการควบคุมโรค
อธิบดีกรมปศุสัตว์ ยังขอความร่วมมือพี่น้องเกษตรกร ในการดำเนินการตามมาตรการควบคุมโรคของกรมปศุสัตว์โดยเคร่งครัด เพื่อควบคุมโรคให้สงบได้โดยเร็ว อย่างไรก็ตาม ASF เป็นโรคที่ไม่ติดต่อสู่คนหรือสัตว์ชนิดอื่น ผู้บริโภคยังสามารถรับประทานเนื้อสุกรได้อย่างปลอดภัย โดยจะต้องให้ความร้อนปรุงสุกที่อุณหภูมิสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส หากมีข้อสงสัยหรือพบสุกรป่วยตายผิดปกติ หรือสัตว์ป่วยตายผิดปกติ หรือต้องการความช่วยเหลือ ติดต่อได้ที่ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดทั่วประเทศ หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ 063-225 -6888 หรือ Application DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา 24 ชั่วโมง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: