นนทบุรี – อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยัน ปีนี้ มีวัคซีนโควิดถึง 90 ล้านโดส เพียงพอฉีดเข็ม 3 ชี้ ทุกสูตรมีประสิทธิผลป้องกันป่วยหนัก-เสียชีวิต 90-100% ด้านอธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันเช่นกันเตียงพอ ขณะนี้ทั้งประเทศมีอยู่กว่า 46,000 เตียง
วันที่ 14 มกราคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ยืนยันว่า ขณะนี้วัคซีนโควิด-19 เพียงพอ โดยปีนี้ กระทรวงสาธารณสุขจัดซื้อวัคซีนทั้งหมด 90 ล้านโดส เป็นวัคซีนไฟเซอร์ 30 ล้านโดส จึงมีเพียงพอสำหรับการฉีดเข็มกระตุ้น (บูสเตอร์) แน่นอน โดยลำดับการฉีดวัคซีนจะเรียงจากวัคซีนชนิดเชื้อตายก่อน ต่อด้วยไวรัลเวกเตอร์ และ mRNA
อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า จากการติดตามประเมินประสิทธิผลวัคซีนโควิด-19 ในพื้นที่จริง ตั้งแต่สิงหาคม-ธันวาคม 2564 จากการฉีดวัคซีนสูตรต่าง ๆ ที่กำหนดฉีด ใน 4 พื้นที่ ซึ่งมีการระบาดของสายพันธุ์ที่แตกต่างกัน พบว่า วัคซีนทุกสูตรมีประสิทธิผลป้องกันอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตสูงประมาณ 90-100% ส่วนการป้องกันการติดเชื้อมีประสิทธิผลสูงพอสมควร แต่จะลดลงเมื่อเวลาผ่านไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อได้รับการฉีดเข็มกระตุ้นหรือการฉีดสูตรไขว้ จะเพิ่มประสิทธิผลการป้องกันการติดเชื้อให้สูงขึ้น จึงช่วยควบคุมการระบาดได้ดี สำหรับผู้ที่ฉีดวัคซีนเชื้อตายและรับเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์ พบว่า มีประสิทธิผลป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการเสียชีวิตสูงไม่แตกต่างกัน ส่วนการรับเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์สามารถป้องกันโอมิครอนได้ 80-90%
“การฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นจึงเป็นนโยบายสำคัญ โดยผู้ที่ได้รับสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ครบช่วงสิงหาคม-ตุลาคม 2564 ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้าเป็นหลัก ผู้ที่ได้รับแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ช่วงสิงหาคม-ตุลาคม 2564 จะกระตุ้นด้วยไฟเซอร์ และผู้ที่ได้รับวัคซีนเชื้อตาย 2 เข็ม ตั้งแต่ 4 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าเซนเนก้า” นพ.โอภาสกล่าว
ด้านนายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ ยืนยันสถานการณ์เตียงรองรับผู้ป่วยว่า ขณะนี้ยังมีเพียงพอ ณ วันที่ 13 ม.ค.65 เตียงทั้งประเทศอยู่ที่ 46,873 เตียง เนื่องจากผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนครึ่งหนึ่งไม่มีอาการ และอีก 30% มีอาการไม่มาก จึงเน้นการดูแลรักษาที่บ้าน Home Isolation (HI) และศูนย์กักตัวในชุมชน Community Isolation (CI) เป็นหลัก
ขอความร่วมมือสถานบริการสุขภาพ เน้น HI & CI first เตรียมความพร้อมสำหรับการจัด HI และ CI ติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง ภายหลังได้รับแจ้งจากสายด่วน 1330 และประเมินความเหมาะสมสำหรับผู้ติดเชื้อตามดุลยพินิจของแพทย์ แนะนำการปฏิบัติตัวที่บ้านให้แก่ผู้ติดเชื้อ ติดตามและประเมินอาการผู้ติดเชื้อในระบบ HI และ CI อย่างน้อยวันละครั้ง พร้อมจัดระบบส่งต่อผู้ป่วยไปยัง Hospitel (ฮอสปิเทล) โรงพยาบาลสนามหรือโรงพยาบาลหลัก หากประเมินพบว่ามีอาการเปลี่ยนแปลง หรือกรณีฉุกเฉิน นอกจากนี้ ยังขอให้รับผู้ป่วยเด็ก ซึ่งสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี จัดเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กมาเป็นที่ปรึกษาให้
ส่วนทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุว่า กรมฯ ได้ขยายศักยภาพโรงพยาบาลเอกชน ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไปสู่โรงแรม Hospitel (ฮอสปิเทล) เพื่อรองรับผู้ที่มีอาการรุนแรงขึ้น ให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที โดยข้อมูลวันที่ 13 มกราคม 2565 ได้อนุมัติให้โรงพยาบาลเอกชนจัดตั้งเป็นโรงพยาบาลสนาม (ฮอสปิเทล) จำนวน 162 แห่ง รวม 49,137 เตียง ขณะนี้เปิดดำเนินการแล้ว 145 แห่ง รวม 30,240 เตียง
นอกจากนี้ ยังประกาศหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินโรคติดต่ออันตราย ตามกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อ กรณีโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด 19 (ฉบับที่ 7) ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน โดยปรับลดอัตราค่าตรวจหาเชื้อโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR จากเดิม 3,125 บาท เป็น 1,300-1,500 บาท และลดค่าห้องใน รพ.สนาม (ฮอสปิเทล) จากเดิม 1,500 บาท เป็น 1,000 บาท ซึ่งได้รับความร่วมมืออย่างดีจากโรงพยาบาลเอกชนและกองทุนที่เกี่ยวข้อง
ส่วนเรื่องประกันสุขภาพ จะครอบคลุมการดูแลด้วย HI/CI ในกรณีการตรวจด้วย ATK หรือไม่ ได้หารือกับรองเลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ซึ่ง คปภ.จะนำสภาพปัญหาและรายละเอียดไปประชุมร่วมกับบริษัทประกันภัย เพื่อหาทางออกที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับประชาชนมากที่สุดต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: