กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรีเรียกประชุมด่วน กระทรวงพลังงาน-พาณิชย์ สั่งเตรียมพร้อมมาตรการลดผลกระทบพร้อมช่วยเหลือประชาชน ทั้งภาคครัวเรือนและร้านอาหาร ตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท/ลิตร ก๊าซหุงต้ม 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม ถึง 31 มีนาคม 2565
วันที่ 20 มกราคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์น้ำมันโลกอย่างใกล้ชิด ซึ่งหลังการประชุมคณะกรรมการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. ครั้งที่ 2/2565 นายกรัฐมนตรีได้เรียกประชุมเพื่อบริหารสถานการณ์ด้านราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังสถานการณ์โควิดเริ่มคลี่คลาย ทำให้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ปัญหาด้านราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบในหลายประเทศรวมถึงไทย
นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน, นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน รวมถึงอธิบดีกรมการค้าภายใน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมแผนรองรับและบริหารจัดการแบบบูรณาการ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานยังคงติดตามสถานการณ์ด้านพลังงานมาอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว ซึ่งยังคงนโยบายเพื่อลดค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นต่อประชาชน ได้แก่ การตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร โดยใช้กลไกเงินกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อไม่ให้ภาคธุรกิจและภาคขนส่งได้รับผลกระทบ ซึ่งจะส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการ และถ้าราคาน้ำมันยังคงสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ก็ได้เตรียมความพร้อมในการเสริมสภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์
ข่าวน่าสนใจ:
- มหกรรมอาหารทะเลพื้นบ้านประมงเรือเล็กระยอง อาหารทะเลสดๆ-สินค้าชุมชน ชมคอนเสิร์ตศิลปินชื่อดัง
- ศูนย์วัฒนธรรมเกาหลีฯ จัดกิจกรรม"วันกิมจิ"เผยแพร่การทำกิมจิ ผู้สนใจเข้าร่วมงานกว่า 700 คน
- เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ครั้งที่ 2 โรงงานผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
- กทม. ร่วม"ฟูกูโอกะ" เปิดงาน "Fukuoka Fair" ฉลอง 18 ปีเมืองพี่เมืองน้อง
เบื้องต้น จะตรึงราคาดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาท สำหรับราคาก๊าซหุงต้ม ยังคงตรึงราคาไว้ที่ 318 บาทต่อถัง 15 กิโลกรัม (ไม่รวมค่าขนส่ง) เพื่อช่วยเหลือประชาชนทั้งครัวเรือนและร้านอาหาร ไปจนถึงวันที่ 31 มีนาคม 2565
นายกรัฐมนตรี ยังติดตามเรื่องค่าไฟฟ้า จึงสั่งการให้กระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง บริหารจัดการเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้มีต้นทุนที่ต่ำที่สุด เพื่อให้สามารถลดภาระค่า Ft ให้ได้มากที่สุด รวมทั้งพิจารณาเรื่องการรักษาความมั่นคงด้านพลังงาน โดยเฉพาะก๊าซธรรมชาติ ซึ่งจะมีการเปลี่ยนผ่านของผู้รับสัมปทานในแหล่งเอราวัณ ซึ่งกระทรวงพลังงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่าจะสามารถจัดหาก๊าซธรรมชาติได้อย่างต่อเนื่อง โดยบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) มีความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะรองรับการนำเข้าให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ภายในประเทศ
ส่วนน้ำมันปาล์ม โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีสั่งการให้กระทรวงพาณิชย์บริหารเรื่องน้ำมันปาล์มสำหรับบริโภคให้ราคาเหมาะสม เนื่องจากเป็นต้นทุนประกอบอาหาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง รวมทั้งยังสั่งการให้บริหารจัดการน้ำมันปาล์มที่นำมาผลิตไบโอดีเซลให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ไม่ให้ส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกรและภาคขนส่ง นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ ปตท. เตรียมความพร้อมจัดหาพื้นที่ในสถานีบริการน้ำมัน เป็นศูนย์จำหน่ายสินค้าชุมชน และร่วมกับกระทรวงพาณิชย์จำหน่ายสินค้าอุปโภค-บริโภคในราคาประหยัด
“นายกรัฐมนตรี ห่วงใยในสถานการณ์ของแพง ได้สั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงพลังงานและกระทรวงพาณิชย์ เตรียมความพร้อมในการกำหนดมาตรการรับมือด้านราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง เน้นย้ำให้บริหารจัดการด้านความมั่นคงและราคา เพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด” นายธนกร กล่าว
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: