กรุงเทพฯ – สื่อไทยยังเผชิญความยากลำบากท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการใช้ชีวิตวิถีใหม่ (New Normal) และพฤติกรรมผู้บริโภคในการเสพสื่อก็เปลี่ยนแปลงไป มีความหลากหลายมากขึ้น ถือเป็นโจทย์ที่ท้าทายอย่างยิ่งของสื่อไทย
บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ผู้ให้บริการด้านมีเดียอินเทลลิเจนซ์และสำนักข่าวชั้นนำของไทย จัดทำและเผยแพร่รายงาน ‘ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564-2565’ (Thailand Media Landscape 2021-2022) ที่ผ่านการรวบรวมและนำเสนอแนวโน้ม ความเคลื่อนไหว กลยุทธ์ ของสื่อต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นสื่อโซเชียล สื่อออนไลน์ และสื่อดั้งเดิม รวมทั้งมุมมองที่มีต่อการทำงานของสื่อ เทคโนโลยี และเมกะเทรนด์ ที่จะส่งผลกระทบต่อสื่อจากนักวิชาการ นักการตลาด-ประชาสัมพันธ์ และสื่อมวลชน
ซึ่งข้อมูลล่าสุด พบว่า ภาพรวมภูมิทัศน์สื่อไทย ถ้าพิจารณาสถานการณ์จากเม็ดเงินที่ใช้จ่ายในการโฆษณา ในรอบ 8 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ส.ค.64) พบว่า ภาพรวมดีขึ้นกว่าปีก่อนเล็กน้อย และลดลงเมื่อเทียบกับปี 2562 ซึ่งเป็นปีก่อนเกิดสถานการณ์โควิด-19
ข่าวน่าสนใจ:
โดยสื่อทีวี ภาพรวมยังทรง ๆ ไม่ได้เติบโตแบบหวือหวา แต่ยังอยู่ในความสนใจ และมีการใช้จ่ายเงินโฆษณากับสื่อทีวีมากที่สุด ส่วนสื่ออินเทอร์เน็ต หรือ สื่อออนไลน์ มีมูลค่าการใช้จ่ายโฆษณาเป็นอันดับสอง แม้ยอดเติบโตสูง แต่เม็ดเงินโฆษณายังกลับมาไม่เท่ากับปีก่อนเกิดโควิด-19 ขณะที่สื่อวิทยุและสิ่งพิมพ์ มีมูลค่าการใช้จ่ายเงินโฆษณาลดลงต่อเนื่อง ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด-19 อาจจะบอกได้ว่า ไม่ใช่ยุคของสื่อสิ่งพิมพ์ (Print) และสื่อวิทยุ ในรูปแบบเดิมๆ อีกต่อไป
ทั้งนี้ โซเชียลมีเดียยังคงเป็นสื่อที่ถูกนำมาใช้งาน เพื่อเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารและพูดคุยจากทั้งสื่อมวลชนและภาคธุรกิจ เนื่องจากสามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ต้องการพื้นที่ในการพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ค้นหาข้อมูล
โดยโซเชียลมีเดียหลายแพลตฟอร์ม ได้พัฒนาและเปิดตัวฟีเจอร์ใหม่ ๆ ออกมาให้สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น ทวิตเตอร์ (Twitter) ที่เปิดตัว Twitter Space เพื่อนำเสนอพื้นที่อิสระในการพูดคุยในหัวข้อเฉพาะสำหรับผู้ที่มีความสนใจในเรื่องเดียวกัน หรือยูทูบ (YouTube) ที่เปิดตัวฟีเจอร์ Shorts ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ที่ชอบคอนเทนต์สร้างสรรค์ ไอเดียสดใหม่ และสั้นกระชับ
ขณะที่ติ๊กต็อก (TikTok) ยังเป็นแพลตฟอร์มที่ได้รับความนิยมอย่างมากในไทย
จากข้อมูล ณ เดือนมิถุนายน 2564 ผู้ใช้ TikTok ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีจำนวนมากกว่า 240 ล้านคน (คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของผู้ใช้งานทั่วโลก) เพิ่มขึ้นถึง 85% จากปีก่อนหน้า
LINE แพลตฟอร์มสื่อสารที่มีผู้ใช้งานมากในไทย และให้บริการ LINE TODAY ศูนย์รวมข่าวสารและบทความจากสื่อชั้นนำในประเทศ มีฐานผู้อ่านกว่า 38 ล้านคนต่อเดือน ปีนี้เติบโตขึ้น 50% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ได้เพิ่มคอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่เป็นวิดีโอสั้น (LINE VOOM) พร้อมเพิ่ม LINE TODAY Showcase เปิดโอกาสให้คนรักการเขียนส่งผลงานในหัวข้อกิน-เที่ยว เข้ามาให้ทีมงานคัดเลือก เพื่อเผยแพร่บน LINE TODAY
ส่วนสื่อออนไลน์อย่างเว็บไซต์ คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ถูกเลือกให้เป็นหนึ่งในสื่อหลักที่ทั้งสื่อมวลชน สำนักข่าว และแบรนด์ต่าง ๆ ใช้งาน เพื่อนำเสนอข้อมูลข่าวสารอย่างเป็นทางการ ขณะที่อินฟลูเอนเซอร์ยังคงมีบทบาทอย่างมากในการทำการตลาดดิจิทัลของภาคธุรกิจ โดยเฉพาะช่วงโควิด-19 ที่อินฟลูเอนเซอร์ทั้งระดับ KOL (Key Opinion Leader) หรือ KOC (Key Opinion Customer) ที่มีผู้บริโภคติดตามในวงกว้างสามารถสร้างการรับรู้และสร้างการมีส่วนร่วม จึงทำให้อินฟลูเอนเซอร์ได้รับความนิยมมาโดยตลอด
รายงาน ‘ภูมิทัศน์สื่อไทยปี 2564-2565’ ยังนำเสนอมุมมองและการคาดการณ์เกี่ยวกับแนวโน้ม สถานการณ์ ความเคลื่อนไหวของสื่อ และพีอาร์ จากนักวิชาการ ผู้บริหารพีอาร์เอเจนซี่ และสื่อมวลชน ที่จะมาสะท้อนให้เห็นถึงการทำงานและอนาคตของสื่อต่าง ๆ หลังจากที่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย และเมกะเทรนด์อย่าง Metaverse เข้ามามีบทบาทมากยิ่งขึ้น
ผู้สนใจสามารถอ่านและติดตามข้อมูลภูมิทัศน์และสถานการณ์สื่อไทยในรายงานภูมิทัศน์สื่อไทย ปี 2564-2565 ซึ่งจัดทำโดย บริษัท อินโฟเควสท์ จำกัด ได้ที่เว็บไซต์ https://www.infoquest.co.th/thailand-media-landscape-2022
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: