กรุงเทพฯ – คณะรัฐมนตรีอนุมัติงบกลาง 3,150 ล้านบาท ตอบแทนเป็นขวัญกำลังใจให้ อสม. เพิ่มอีก 6 เดือน ๆ ละ 500 บาท ตั้งแต่ตุลาคม 2564-มีนาคม 2565
วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2565 งบกลางวงเงินจำนวน 3,150 ล้านบาท รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ภายใต้โครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สำหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคโควิด -19 ในชุมชน
โดยจะนำไปจ่ายเป็นค่าตอบแทนเพื่อเป็นขวัญและกำลังใจให้แก่ อสม.จำนวน 1 ล้าน 39,729 คน และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) 10,577 คน รวม 1 ล้าน 50,306 คน ในอัตราเดือนละ 500 บาทต่อคน ระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564-มีนาคม 2565 เพิ่มเติมจากเดิมที่ได้รับเดือนละ 1,000 บาทจากภาระงานปกติ
สำหรับกิจกรรมที่ อสม.จะดำเนินการในส่วนภาระงานที่เพิ่มขึ้น ประกอบด้วย อสม.เคาะประตูบ้าน แจ้งสถานการณ์โรค ให้ความรู้เกี่ยวกับวัคซีนป้องกันโควิด-19 และให้คำแนะนำในการปฏิบัติตัวที่ถูกต้องแก่ประชาชน, อสม.สำรวจ และลงทะเบียนกลุ่มเป้าหมายในชุมชนให้ได้รับการฉีดวัคซีน ติดตามอาการกลุ่มเสี่ยงหลังฉีดวัคซีนที่บ้านในชุมชน ส่งต่อผู้ที่มีอาการไม่พึงประสงค์และติดตามกลุ่มเป้าหมายจนกว่าจะได้รับวัคซีนเข็มที่ 2
ข่าวน่าสนใจ:
- “ปลายฝน ต้นหนาว เคาท์ดาวน์ มิวสิคเฟส สุราษฎร์ธานี” ไฮไลท์ประกวดควายไทยมูลค่ากว่า 10 ล้าน
- นครพนม : หมอสงค์ หมอผู้สร้าง เปิดตัวสมัครนายก อบจ.นครพนม พร้อม ส.อบจ.นครพนม
- ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิขานรับนโยบายกระทรวงคมนาคม พร้อมอำนวยความสะดวกผู้โดยสาร ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568
- บุรีรัมย์ เตือนวัยรุ่นอย่าทำ ขับรถหวาดเสียว ยกล้อโชว์ จับส่งศาล ศาลพิพากษาสั่งปรับและจำคุก
สำรวจ เฝ้าระวัง คัดกรองและติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชนอย่างต่อเนื่อง,ร่วมสนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์และบุคลากรสาธารณสุขในการติดตามผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน หรือเข้ารับการแยกกักในชุมชน, ดูแลให้คำแนะนำและประเมินคัดกรองสุขภาพจิตเบื้องต้น ทั้งสำรวจ คัดกรองความเครียด สำรวจคัดกรองโรคซึมเศร้า และประเมินภาวะซึมเศร้า รวมถึงกิจกรรมอื่นๆที่ส่งผลกระทบต่อการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในชุมชน
ส่วนประโยชน์ที่จะได้รับ ประกอบด้วย ประชาชนในชุมชนได้รับการเฝ้าระวัง คัดกรอง ป้องกันโรคโควิด-19 ในชุมชน, ประชาชนได้รับความรู้ ความเข้าใจ และปฏิบัติตัวถูกต้องในการป้องกันตนเองและครอบครัวจากการติดเชื้อโควิด-19 , ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องกักกัน หรือแยกตัวเพื่อสังเกตอาการ ได้รับการดูแลที่ถูกต้องจากอสม. ลดการแพร่กระจายของเชื้อไปสู่ผู้อื่น และสร้างขวัญและกำลังใจให้กับอสม.ในการปฏิบัติหน้าที่ ตลอดจนเป็นแรงจูงใจที่สามารถผลักดันให้เกิดการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ ทำให้เกิดสุขภาวะที่ดีกับประชาชน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมา กระทรวงสาธารณสุขมอบหมายให้ อสม.และ อสส. ร่วมดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโควิด-19 ในชุมชน ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 โดยมีผลดำเนินงานดังนี้ ให้ความรู้ในการป้องกันและดูแลสุขภาพตนเองแก่ประชาชน 7 ล้าน 424,625 คน, เฝ้าระวังและคัดกรองกลุ่มเสี่ยง 1 ล้าน 98,782 คน, เคาะประตูบ้านต้านภัยโควิด-19 จำนวน 14 ล้าน 20,134 หลังคาเรือน, ค้นพบกลุ่มเสี่ยงที่มีอาการและส่งต่อให้แก่เจ้าหน้าที่สาธารณสุข 3,514 คน, อสม.แนะนำกลุ่มเป้าหมายตรวจ ATK และรายงานผลการตรวจผ่านแอปพลิเคชัน ‘สมาร์ท อสม.’ 37,643 ครั้ง, อสม.เชิญกลุ่มผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ที่มีโรคประจำตัว มารับวัคซีนเข็มที่ 1 จำนวน 14 ล้าน 864,145 เข็ม และเข็มที่ 2 จำนวน 9 ล้าน 638,559 เข็ม
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก : ชมรม.อสม.จิตรอาสา ทั่วประเทศ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: