X

‘ป่วยโควิด’ รักษาฟรี! ทุก รพ.เหมือนเดิม ครม.ตีกลับประกาศ สธ.พ้นยูเซป

กรุงเทพฯ – คณะรัฐมนตรี สั่งกระทรวงสาธารณสุข ทบทวนประกาศให้รักษาโควิด-19 ตามสิทธิ เพื่อสร้างความเข้าใจและเตรียมพร้อม ก่อนเสนอมาใหม่ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ย้ำ โควิดยังเป็นโรคฉุกเฉิน รักษาได้ทุกที่ฟรีทุกสิทธิ

วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) แถลงข่าว แนวทางการรักษาและเบิกจ่ายโควิด-19 ระบบยูเซปพลัส (UCEP Plus) ว่า กระทรวงสาธารณสุขเตรียมการดีเดย์การใช้ยูเซปพลัสกับโควิด ซึ่งจะเริ่มในวันที่ 1 มี.ค.2565 นี้ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องข้อกำหนดเกณฑ์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 เพื่อปรับระบบการบริการให้ผู้ป่วยโควิด-19 รักษาตามสิทธิสุขภาพของแต่ละบุคคล และเตรียมประกาศ UCEP Covid-19 Plus โดยให้สถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน กำหนดเกณฑ์ผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มอาการสีเหลืองและสีแดง เพื่อให้ใช้บริการได้ทุกที่ ฟรีทุกสิทธิ ในสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ มีคำสั่งให้ สธ. ทบทวนเรื่องกระบวนการ และไปทำความเข้าใจกับประชาชน โดยเฉพาะกระบวนการติดต่อการรักษาช่องทางต่าง ๆ รวมถึงเรื่อง UCEP Covid-19 Plus ในอนาคต และการปรับระบบการรักษาที่บ้าน (Home Isolation) ให้กระบวนการคล่องตัว ซึ่ง สธ.ได้รับเรื่องนี้มาเพื่อทำความเข้าใจกับประชาชน สถานพยาบาล และทบทวนกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งจะต้องนำเรื่องเข้าคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องเพื่อเสนอต่อไป

อธิบดี สบส. กล่าวต่อว่า ครม. ยังให้ สธ.ดำเนินการทบทวน การประกาศยกเลิกกำหนดผู้ป่วยฉุกเฉิน กรณีการติดเชื้อโควิด-19 ให้สอดคล้องกัน โดยสรุป คือ ตอนนี้ระบบการดูแลยังเป็น UCEP covid-19 เหมือนเดิม ซึ่งต้องไปดูแลกระบวนการดูแลผู้ป่วยเพิ่มเติมขึ้น โดยเฉพาะกรุงเทพมหานคร ที่มีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ จึงต้องพัฒนาช่องทางการติดต่อเพื่อเข้าระบบ 1330 หรือการเข้า Line official ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมถึงดูแลระบบการรับ-ส่งผู้ป่วย

ส่วนประกาศให้โควิดออกจากโรคฉุกเฉิน ลงนามไปแล้วนั้น นพ.ธเรศ บอกว่ายังไม่ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ครม.จึงให้นำมาพิจารณาทบทวนอีกครั้ง เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องของภาคประชาชน จึงขอให้กระทรวงสาธารณสุขรับไปเพื่อทบทวนเรื่องการสื่อสารและกระบวนการทั้งหมด โควิดจึงยังคงเป็นโรคฉุกเฉิน รักษาฟรีได้ทุกสิทธิ์ รพ.เอกชนจะปฏิเสธไม่ได้ สำหรับกรอบระยะเวลาการทบทวนนั้น ต้องดูตามความเหมาะสม

อธิบดี สบส. ย้ำว่า ขณะนี้กลไกของ UCEP Covid-19 ยังมีผลบังคับใช้อยู่ ดังนั้น ผู้ป่วยโควิดถือเป็นโรคฉุกเฉิน สถานพยาบาล รวมถึง รพ.เอกชน ต้องให้การดูแลและไม่สามารถปฏิเสธได้ แต่หากไม่มีศักยภาพในการดูแลหรือไม่มีเตียง ต้องส่งต่อผู้ป่วย และไม่สามารถเรียกเก็บเงินมัดจำได้ เพราะจะมีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล

ด้านนายแพทย์จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยืนยันว่า UCEP Covid-19 ยังรักษาได้ทุกที่ ไม่จำเป็นต้องกลับไปรักษายังหน่วยบริการที่ลงทะเบียนไว้ ส่วนการรับบริการทั้งที่บ้าน ชุมชน โรงแรม โรงพยาบาล ระบบจะเข้าไปดูแลค่าใช้จ่าย

สำหรับช่องทางลงทะเบียนผู้ติดเชื้อผ่านสายด่วน 1330 พบว่า วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2565 มีจำนวนสายติดต่อเข้ามาสูงที่สุด 49,005 สาย ในรอบ 24 ชั่วโมง จึงเพิ่มเจ้าหน้าที่รับสายอีก 150 คน ทั้งนี้ ทุกวินาทีจะมีผู้รอสายประมาณ 50 สาย จึงแนะนำให้ติดต่อผ่านไลน์ สปสช. @nhso หรือเว็บไซต์ของ สปสช. จะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องและติดต่อกลับเช่นกัน

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"