กรุงเทพฯ – คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต ส่งเสริมนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศ และลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นเวลา 2 ปี (2565-2566)
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เห็นชอบตามที่กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิต เสนอให้พิจารณามาตรการภาษีศุลกากรและภาษีสรรพสามิต เพื่อส่งเสริมนโยบายสนับสนุนยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย และการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ CO2 เพื่อให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน และลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม จากการใช้รถสันดาปภายใน มาเป็นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ
โดยลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรศุลกากร นำเข้ารถยนต์ประเภท Battery Electric Vehicle (BEV) สำเร็จรูปทั้งคัน (CBU) ที่ได้รับสิทธิพิเศษทางอากรศุลกากร ภายใต้ความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) และการนำเข้าทั่วไป ในปี 2565-2566 ดังนี้
1.ราคาขายปลีกแนะนำไม่เกิน 2 ล้านบาท
การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากรจากเดิม 80% เหลือ 40%
ใช้สิทธิ FTA อากรไม่เกิน 40% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 40% ให้ลดอัตราอากรอีก 40%
2.ราคาขายปลีกแนะนำมากกว่า 2-7 ล้านบาท
การนำเข้าทั่วไปลดอัตราอากรจากเดิม 80% เหลือ 60%
ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรไม่เกิน 20% ให้ได้รับการยกเว้นอากร
ใช้สิทธิ FTA หากอัตราอากรเกิน 20% ให้ลดอัตราอากรอีก 20%
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวต่อว่า กรมสรรพสามิตเสนอปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถยนต์และรถจักรยานยนต์ อาทิ การปรับลดเกณฑ์การปล่อย CO2 เพื่อส่งเสริมให้รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารที่มีที่นั่งไม่เกิน 10 คน รถยนต์กระบะ และรถจักรยานยนต์ มีการลดการปล่อย CO2 และประหยัดพลังงานเพิ่มมากขึ้น
ข่าวน่าสนใจ:
การกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท HEV และ PHEV ให้แตกต่างกัน เพื่อให้สอดคล้องกับการพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นของ PHEV และการพัฒนาไปสู่รถยนต์ BEV
การทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท ICE, HEV และ PHEV ให้เหมาะสม โดยกำหนดอัตราภาษีสรรพสามิตเพิ่มขึ้นแบบขั้นบันได 3 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ.2569 พ.ศ.2571 และ พ.ศ.2573 ตามลำดับ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีการผลิตรถยนต์ที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า และส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์/ชิ้นส่วนสำคัญของรถยนต์ และปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตรถยนต์ประเภท BEV จากอัตรา 8% เหลือ 2% เพื่อส่งเสริมการใช้รถยนต์ไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นตามมติคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ
นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ เพื่อส่งเสริมการใช้รถจักรยานยนต์ไฟฟ้า และสร้างแรงจูงใจในการผลิตรถจักรยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น โดยการทยอยปรับอัตราภาษีสรรพสามิตรถจักรยานยนต์ ประเภทพลังงานเชื้อเพลิงให้เหมาะสมแบบขั้นบันได 2 ช่วง ได้แก่ ปี พ.ศ.2569 และ พ.ศ.2573 เพื่อสร้างแรงจูงใจในการพัฒนาเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ส่วนรถจักรยานยนต์ไฟฟ้าที่ได้รับสิทธิอัตราภาษีสรรพสามิต 1% จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กรมสรรพสามิตประกาศกำหนด
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: