กรุงเทพฯ – มติ ศบค.ชุดใหญ่ เปิดเรียนแบบ On-Site ทั้งโรงเรียนประจำและไป-กลับ อัตราครองเตียง ปรับมาตรการผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ยกเลิกตรวจ RT-PCR ครั้งที่ 2 ให้ตรวจ ATK แทน พร้อมลดวงเงินประกันสุขภาพ เริ่ม 1 มี.ค.65
วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสรุปผลการประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในฐานะ ผอ.ศบค. เป็นประธาน ดังนี้
1.คงพื้นที่สถานการณ์ควบคุมโควิด-19 ตามเดิม คือ พื้นที่ควบคุม (สีส้ม) 44 จังหวัด พื้นที่เฝ้าระวังสูง (สีเหลือง) 25 จังหวัด พื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว (สีฟ้า) 8 จังหวัด และจังหวัดอื่นที่ดำเนินการนำร่องท่องเที่ยวบางพื้นที่ 18 จังหวัด
2.งบประมาณสำหรับบริการโควิด-19 ปี 2563-2565 รวม 32,488 ล้านบาท โดยปี 2563 จ่ายไปแล้ว 3,841.15 ล้านบาท ยอดสูงสุดที่หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 3,302.09 ล้านบาท
ปี 2564 จ่ายไป 97,747.94 ล้านบาท หลักประกันสุขภาพแห่งชาติยังคงมากสุด 51,177.58 ล้านบาท
ปี 2565 จ่ายผ่านหลักประกันสุขภาพแห่งชาติไปแล้ว 32,488 ล้านบาท และอยู่ระหว่างเสนอของบฯ เพิ่ม 51,065.13 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม เมื่อรวมตัวเลขค่าใช้จ่ายค่าบริการโควิด-19 ช่วงปี 2563-2565 รวมทั้งหมด 134,072 ล้านบาท จ่ายมากในผู้ป่วยสีแดง ค่าใช้จ่ายภาครัฐ 252,182 บาท เอกชน 375,428 บาท ส่วนผู้ป่วยสีเขียว ภาครัฐจ่ายไป 23,248 บาท เอกชน 50,326 บาท ผู้ป่วยสีเหลือง ภาครัฐ 81,844 บาท เอกชน 92,752 บาท
ซึ่งในวันที่ 1 มี.ค.65 สปสช.จะปรับเกณฑ์ค่ารักษาโควิด-19 โดยใช้เกณฑ์
ผู้ป่วยสีเขียว รายละ 12,000 บาท, สีเหลือง 69,300 บาท และสีแดง 214,400 บาท
สำหรับการใช้จ่ายแบบยูเซ็ป หรือผู้ป่วยฉุกเฉินโควิด-19 ผู้ป่วยสีเขียวใช้สิทธิในส่วนนี้ถึง 88% ขณะที่สีแดงมีเพียง 1% ส่วนสีเหลือ 11%
3.เห็นชอบมาตรการเปิดเรียนแบบ On-Site ทั้งโรงเรียนประจำและไป-กลับ กรณีนักเรียนมีความเสี่ยงและติดเชื้อในสถานศึกษาแยกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้
กลุ่ม 1 โรงเรียนประจำ กรณีนักเรียน ครู หรือบุคลากร เป็นผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำ ให้เรียน On-Site ตามปกติ แต่ต้องสังเกตอาการ หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้จัดการเรียนการสอนและทำกิจกรรมใน Quarantine zone ตามแนวทาง sand box safety zone in school เป็นเวลา 7 วัน และให้ติดตามสังเกตอาการอีก 3 วัน จัดการตรวจคัดกรองหาเชื้อตามระยะเวลาที่กำหนด
กลุ่ม 2 โรงเรียนไป-กลับ ผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำให้ไปเรียนตามปกติ หากเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้แยกกักตัวที่บ้าน 7 วัน สังเกตอาการ 3 วัน ตรวจหาเชื้อตามระยะเวลา
กลุ่ม 3 การสอบ ถ้าติดเชื้อแบบไม่มีอาการหรืออาการเล็กน้อยหรือสัมผัสเสี่ยงสูงให้เข้าสอบได้ แต่ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือก่อนและหลังเข้าสอบ งดพูดคุย เว้นระยะห่าง เดินทางไปสนามสอบด้วยรถยนต์ส่วนตัว หรือประสานหน่วยสถานที่สอบ หน่วยบริการสาธารณสุข กรณีไม่มีรถส่วนตัว ส่วนผู้คุมสอบปฏิบัติตามมาตรการป้องกันเข้มข้น เว้นระยะห่างไม่น้อยกว่า 2 เมตร
4.เห็นชอบปรับมาตรการป้องกันโรค สำหรับการเดินทางเข้าราชอาณาจักร โดยลดการตรวจโควิด-19 ด้วยวิธี RT-PCR เหลือ 1 ครั้ง โดยยกเลิกการตรวจครั้งที่ 2 คือวันที่ 5 เมื่อเดินทางถึงไทย เป็นการตรวจด้วย ATK แทน และให้รายงานกลับมาทางแอปพลิเคชั่น เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.2565 พร้อมเห็นชอบลดวงเงินประกันสุขภาพจากเดิม 50,000 ดอลลาร์สหรัฐ เหลือไม่น้อยกว่า 20,000 ดอลลาร์ หรือไม่เกิน 700,000 บาทต่อราย ซึ่งครอบคลุมเพียงพอต่อการรักษาโควิด-19 ประมาณ 300,000 บาทต่อราย
นายแพทย์ทวีศิลป์ ระบุว่า แม้การระบาดระลอกโอมิครอนผู้ติดเชื้อส่วนใหญ่อาการไม่มาก แต่ยังต้องต้องเฝ้าระวังกลุ่มเปราะบาง ผู้เสียชีวิตต่ำกว่าการคาดการณ์ แต่มีทิศทางพุ่งสูงขึ้น สำหรับอัตราการครองเตียง 49.1% ถือว่าไม่มาก อยากให้สำรองเตียงไว้ให้ผู้ที่มีความเสี่ยงสูง กลุ่มป่วยวิกฤตและป่วยหนัก ส่วนอาการน้อย ๆ หรือไม่มีอาการ ขอให้อยู่ศูนย์พักคอยในชุมชน (CI)
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: