X

เปิด ‘ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์’ เครื่องแรกของไทยและอาเซียน ดันสร้างรายได้ให้ประเทศ

นครนายก – กฟผ. ร่วมโครงการพัฒนา ‘เครื่องโทคาแมค’ เครื่องแรกของประเทศไทย เสริมพลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย มั่นใจ จะเป็นการดิสรัปพลังงานหมุนเวียน ช่วยให้อนาคตไทยและอาเซียน มีแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพและราคาถูก สร้างรายได้ให้ประเทศ คาดเริ่มทดลองใช้ปีหน้า

วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565 ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานในพิธีเปิดโครงการ พัฒนาเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของประเทศไทย : ‘ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์’ พลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย โดยมี นายอำพล อังคภากรณ์กุล ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก, ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัด อว., รศ.ดร.ธวัชชัย อ่อนจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ สทน. และนายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นผู้แทน กฟผ. เข้าร่วมในพิธี

พร้อมร่วมเสวนาในหัวข้อ ‘ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์ พลังงานสะอาดแห่งอนาคตเพื่อคนไทย (จุดเริ่มต้น และโอกาส ของประเทศไทย)’ ณ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) อ.องครักษ์ จ.นครนายก เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2565

นายสาธิต ครองสัตย์ ผู้ช่วยผู้ว่าการวิจัย นวัตกรรม และพัฒนาธุรกิจ กฟผ. ระบุว่า กฟผ. เป็นหน่วยงานภาครัฐดูแลความมั่นคงและเสถียรภาพของพลังงานไฟฟ้า จึงให้ความสนใจเรื่องพลังงานใหม่ ๆ เพื่อพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ กอปรกับภาครัฐได้ออกมาตรการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าเพื่อสนับสนุนประชาชนให้ใช้ไฟฟ้าแทนน้ำมัน ทำให้มีอุปกรณ์เชื่อมต่อเสียบปลั๊กมากขึ้น และเป็นไปตามเทรนด์โลกที่เข้าสู่การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทย ได้ประกาศเป้าหมายเพื่อเข้าสู่ Carbon Neutrality ในปี ค.ศ.2050 และ Net Zero Carbon ในปี ค.ศ.2065-2070 ด้วยเช่นเดียวกัน

ซึ่ง กฟผ. ได้ปรับการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิลเป็นพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น เช่น ลม แสงอาทิตย์ ชีวมวล เพื่อลดการปล่อยคาร์บอนให้น้อยลง อย่างไรก็ตามพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้เกิดจากธรรมชาติที่ไม่สามารถควบคุมได้ จึงเป็นจุดอ่อนที่ต้องแก้ไขเพื่อให้มีเสถียรภาพ ซึ่งการมีดวงอาทิตย์ประดิษฐ์นี้จะเป็นการดิสรัปพลังงานหมุนเวียนอีกทางหนึ่ง ทำให้สามารถควบคุมสั่งการได้ รวมถึงทำให้มีแหล่งพลังงานที่มีเสถียรภาพและราคาถูก

นายสาธิต กล่าวต่อว่า กฟผ. ได้ติดตามและเรียนรู้เทคโนโลยีฟิวชั่นที่กำลังก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว หากมีความเป็นไปได้ทั้งทางเทคนิคและเศรษฐศาสตร์ กฟผ. หวังเป็นองค์การแรก ๆ ที่พร้อมใช้เทคโนโลยีฟิวชั่นในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะตอบโจทย์ทั้งด้านการจ่ายไฟฟ้าอย่างมั่นคง เนื่องจากมีลักษณะการผลิตไฟฟ้าแบบเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจากฟอสซิล แต่ไม่มีการปลดปล่อย CO2 จึงตอบโจทย์ทิศทางของโลกและประเทศไทย รวมถึงเทคโนโลยีฟิวชั่นยังใช้เชื้อเพลิงที่มีสำรองในโลกอยู่เป็นจำนวนมากและสามารถหาได้จากทั่วโลกอีกด้วย

ที่ผ่านมา กฟผ. ได้ให้ความร่วมมือและสนับสนุน สนท. ทั้งในลักษณะ In-Cash และ In-Kind ด้วยการให้ทุนวิจัย พร้อมส่งนักวิจัย กฟผ. เข้าร่วมโครงการวิจัย เพื่อเรียนรู้และเข้าใจในเทคโนโลยีดวงอาทิตย์ประดิษฐ์นี้ให้มากพอที่จะสามารถเข้าไปทำเชิงวิศวกรรม ควบคุมงานก่อสร้าง เดินเครื่อง และซ่อมบำรุงรักษาได้ แม้ว่า กฟผ. อาจจะไม่ใช่ผู้ผลิต แต่สามารถให้คำแนะนำ ดูแล และออกแบบให้เหมาะสมกับประเทศไทยได้

สำหรับเครื่องโทคาแมค ที่ไทยได้ร่วมพัฒนากับ สถาบันพลาสมาฟิสิกส์ของจีน (ASIPP) นี้ มีชื่อว่า Thai Tokamak-1 หรือ TT-1 ซึ่งคาดว่าอุณหภูมิของพลาสมาในระยะแรกจะอยู่ที่ประมาณ 1 แสนองศาเซลเซียส สทน. จึงมีแผนพัฒนาระบบให้ความร้อนเสริมแก่พลาสมา ด้วยวิธีการให้ความร้อนด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เพื่อยกระดับอุณหภูมิของพลาสมาไปสู่ระดับ 1 ล้านองศาเซลเซียส และในอนาคตจะมีการออกแบบและสร้างเครื่องโทคาแมคเครื่องใหม่เอง โดยสร้างสนามแม่เหล็กที่มีความเข้มสูงขึ้น สำหรับกักพลาสมาและการให้ความร้อนเสริมด้วยวิธีการต่าง ๆ คาดว่าจะสามารถสร้างพลาสมาที่มีอุณหภูมิสูงในระดับ 10 ล้านองศาเซลเซียสได้ โดยเครื่องโทคาแมคที่ติดตั้งที่ สทน. จะเป็นแหล่งผลิตพลังงานสะอาดในอนาคต และคาดว่าจะเดินเครื่องครั้งแรกได้ภายในปี 2566

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"