ภารกิจลด PM2.5 ทวงคืนอากาศดี เพื่อเมืองน่าอยู่
ตอนที่ 1 : Lampang Hotspot แอปพลิเคชันคู่ใจทีมดับไฟป่า
“หมอกจาง ๆ หรือควัน คล้ายกันจนบางทีไม่อาจรู้”…
หลายคนคงอาจจะคุ้นเคยกับประโยคยอดฮิตจากเพลงดังในอดีต โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยมีปริมาณฝุ่น PM2.5 เกินมาตรฐาน ทำให้ต้องฉุกคิดว่าตกลงที่เรามองเห็นเป็นละอองหมอกสีขาวที่ปกคลุมไปทั่วท้องฟ้านั้น จริงๆ แล้วคือละอองหมอก หรือละอองฝุ่น PM2.5 กันแน่
เมื่อถึงฤดูแล้งทีไร ก็มักจะมีภัยร้ายจากฝุ่น PM2.5 หรือฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน เป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ที่มีสาเหตุหลักมาจากการเผาเศษวัชพืชทางการเกษตรในที่โล่งแจ้ง เพราะด้วยความสะดวก รวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่ายกว่าวิธีอื่นๆ รวมไปถึงการเผาเพื่อเข้าไปหาของป่าและล่าสัตว์ป่า ซึ่งอาจก่อให้เกิดไฟป่าลุกลามเป็นวงกว้าง ส่งผลร้ายต่อระบบนิเวศและปัญหาสุขภาพของประชาชนตามมา ไปจนถึงปัญหาโลกร้อนที่ยิ่งทวีความรุนแรงขึ้น
ในพื้นที่ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) แม่เมาะ จ.ลำปาง ตระหนักถึงปัญหาหมอกควันมาโดยตลอด จึงจัดทำมาตรการต่าง ๆ ออกมา เพื่อรับมือและขจัดฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างต่อเนื่อง หนึ่งในมาตรการหลัก คือ การจัดตั้งทีมป้องกันไฟป่า กฟผ. แม่เมาะ คอยดูแลเฝ้าระวังและระงับไฟป่าโดยรอบพื้นที่ เพื่อลดแหล่งกำเนิดของฝุ่น PM2.5 แต่เหล่าพี่ๆ ทีมดับไฟป่าจะรู้ได้อย่างไรว่าไฟจะเกิดขึ้นที่บริเวณใด แอปพลิเคชัน Lampang Hotspot คือหนึ่งในตัวช่วยสำคัญ ที่สามารถระบุการเกิดจุดความร้อนในพื้นที่ อ.แม่เมาะ และใน จ.ลำปาง ในแต่ละวันได้ เรียกได้ว่าเป็นอาวุธคู่ใจของทีมป้องกันไฟป่า กฟผ. แม่เมาะ เลยทีเดียว
♦ จุดประกายไอเดีย พัฒนาแอปพลิเคชัน Lampang Hotspot
คุณอาร์ม-จักรพงศ์ สุทธิพงศ์ นักคอมพิวเตอร์ระดับ 6 แผนกวิชาการสิ่งแวดล้อมเหมือง กฟผ. แม่เมาะ ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน Lampang Hotspot เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการพัฒนาแอปพลิเคชันเกิดจากการพบว่าปัญหาหมอกควันและไฟป่าในพื้นที่ภาคเหนือเริ่มเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นทุกปีในช่วงฤดูแล้งอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่ก่อให้เกิดความเสียหายทางด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพแล้ว แต่ยังอาจก่อให้เกิดความเสียหายทางทรัพย์สินหรือชีวิตได้
“จริง ๆ แล้วแนวคิดสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชัน Lampang Hotspot ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในโครงการแม่เมาะเมืองน่าอยู่ (Mae Moh Smart City) ) ได้ถูกตั้งเป้าหมายไว้สำหรับเป็นแพลตฟอร์ม ในการจัดการกับปัญหาไฟป่าซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดฝุ่น PM2.5 โดยเราได้มีการเก็บข้อมูลคุณภาพอากาศและสถิติการเกิดจุดความร้อนหรือพื้นที่ลุกไหม้เป็นประจำอยู่แล้ว จึงอยากจะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับทีมป้องกันไฟป่า กฟผ. แม่เมาะ ไว้ใช้ตรวจสอบพื้นที่ลุกไหม้ได้ทุกที่ทุกเวลา ทำให้สามารถเข้าไปดับไฟได้อย่างรวดเร็ว ไม่เพียงแค่นั้น แอปพลิเคชันยังช่วยแจ้งเตือนสถานการณ์ไฟป่าและคุณภาพอากาศหมอกควันให้กับประชาชนทั่วไปได้รับรู้ได้อีกด้วย”
♦ ฟังก์ชันเด่นของ Lampang Hotspot
แอปพลิเคชัน Lampang Hotspot เริ่มเปิดตัวเมื่อประมาณต้นปี 2564 ถูกออกแบบให้ใช้งานง่าย เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นประชาชนทั่วไปด้วย โดยภายในแอปพลิเคชัน จะแสดงผลข้อมูลคุณภาพอากาศและการเกิดจุดความร้อน รวมทั้งข้อมูลทางอุตุนิยมวิทยาแบบเรียลไทม์ (Real Time) เช่น พยากรณ์ทิศทางและความเร็วลม ผู้ใช้จะสามารถติดตามสถานการณ์คุณภาพอากาศในแต่ละวันได้ โดยแสดงข้อมูลลงลึกไปถึงพื้นที่ระดับตำบลในจังหวัดลำปาง และสามารถระบุได้ว่าเป็นสถานที่ใด หรือระบุว่าเป็นพื้นที่ป่าหรือพื้นที่เกษตรกรรมได้อีกด้วย อีกทั้งยังให้ข้อมูลคำแนะนำกับผู้ใช้งานทั่วไป เพื่อเป็นแนวทางในการปฏิบัติตัวในแต่ละวันที่คุณภาพอากาศมีความแตกต่างกันออกไป ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบด้านสุขภาพที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชนอีกด้วย
ปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามีแอปพลิเคชันทางเลือกให้ใช้ดูข้อมูลคุณภาพอากาศและจุดความร้อนที่หลากหลาย แต่สำหรับแอปพลิเคชัน Lampang Hotspot นั้น จะมุ่งเน้นไปที่การตรวจจับพื้นที่ลุกไหม้โดยเฉพาะ เพื่อแจ้งเตือนจุดความร้อนหรือไฟป่าที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน ให้ทีมป้องกันไฟป่าเข้าดับไฟได้ทันท่วงที ช่วยลดพื้นที่ลุกไหม้และลุกลาม ส่งผลทำให้ลดความรุนแรงของปัญหาด้านคุณภาพอากาศลงได้
♦ อาวุธคู่ใจ ดับไฟป่ารวดเร็ว
คุณฤทธิวัฒน์ พลแหลม ช่างระดับ 7 แผนกวิชาการฟื้นฟูสภาพเหมือง กฟผ. แม่เมาะ สมาชิกทีมลาดตระเวนเฝ้าระวังป้องกันไฟป่า กฟผ. เล่าถึงภารกิจการป้องกันไฟป่าของ กฟผ. แม่เมาะ ว่า มีการจัดตั้งคณะกรรมการศูนย์ป้องกันแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน เพื่อหาแนวทางวิธีการสนับสนุนภารกิจในการดับไฟ โดยในแต่ละปีจะจัดทำข้อมูลจำแนกพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าที่อาจจะเกิดขึ้น และเตรียมอุปกรณ์ดับไฟไว้ให้พร้อมต่อการใช้งานเสมอ ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุกน้ำ รถดับเพลิง รวมถึงวิทยุสื่อสาร ให้ทันต่อเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด และได้ทำแนวกันไฟในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดไฟป่าซ้ำ ผนวกกับการจัดทีมลาดตระเวนเข้าสำรวจพื้นที่เสี่ยงเป็นระยะ ซึ่งเมื่อเกิดเหตุไฟป่าขึ้น ก็จะแจ้งให้หน่วยงานที่ดูแลการดับไฟทราบเป็นการเร่งด่วน
และแน่นอนว่าแอปพลิเคชัน Lampang Hotspot ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่เข้ามาช่วยเสริมทัพให้ภารกิจของทีมป้องกันไฟป่า กฟผ. แม่เมาะ ทำงานได้สะดวกรวดเร็วขึ้น คุณจำรัส เกี๋ยงแก้ว ช่างระดับ 5 แผนกรักษาความปลอดภัยเหมืองแม่เมาะ กฟผ. แม่เมาะ ผู้ดูแลการเข้าไปดับไฟป่า ให้ข้อมูลกับเราว่า
“เมื่อได้รับแจ้งเหตุการเกิดไฟป่าขึ้นในพื้นที่ที่ดูแลในเขต อ.แม่เมาะ และบริเวณใกล้เคียงจากทีมลาดตระเวน ก็จะรีบนำทีมเข้าไปดับไฟยังจุดดังกล่าว นอกจากนั้นแล้ว ก็จะใช้แอปพลิเคชัน Lampang Hotspot มาเป็นตัวช่วยในการดับไฟป่าของทีม โดยปกติจะใช้แอปพลิเคชันตรวจดูจุดการเกิดไฟป่าในแต่ละวันว่าเกิดขึ้นบริเวณใด ซึ่งแอปพลิเคชันสามารถแสดงข้อมูลได้ชัดเจนและตรงจุดที่เกิดไฟป่าได้ถูกต้อง ใช้งานสะดวก ทำให้เข้าไปตรวจสอบและดับไฟได้ทันเวลาก่อนที่ไฟจะลุกลามไปมากกว่านี้ อีกทั้งยังสามารถตรวจสอบทิศทางของลมเพื่อคาดการณ์การพัดพาของลมและการลุกลามของไฟไปยังพื้นที่อื่นได้อีกด้วย”
ไม่เพียงแค่นั้น ยังสามารถใช้ข้อมูลการเกิดจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในแต่ละปีจากแอปพลิเคชัน มาประมวลเป็นข้อมูลพื้นฐานเพื่อเก็บสถิติพื้นที่ที่เกิดไฟป่าในแต่ละปี ทำให้ทีมสามารถรู้ถึงจุดที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ และสามารถเตรียมการเฝ้าระวังและสำรวจเส้นทางในการเข้าไปดับไฟได้ล่วงหน้า
แม้ว่าตอนนี้แอปพลิเคชัน จะแสดงข้อมูลการเกิดจุดความร้อนเฉพาะใน จ.ลำปาง เท่านั้น ซึ่งคุณอาร์มบอกว่า กำลังอยู่ระหว่างพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถแสดงข้อมูลครอบคลุมจังหวัดอื่นๆ ทั่วประเทศและประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ ได้ร่วมมือกับสถาบันต่างๆ เพื่อวิจัยและประเมินปริมาณฝุ่นและคุณภาพอากาศ รวมทั้งการเกิดจุดความร้อนจากดาวเทียม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในภาพรวม เพื่อให้สามารถตอบสนองไปถึงระดับการป้องกันไม่ให้เกิดพื้นที่ลุกไหม้ได้ในอนาคต และมีส่วนช่วยในการแก้ปัญหาการเกิดฝุ่น PM2.5 ในภาพรวมของประเทศ และแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศได้อย่างแท้จริง
ในตอนหน้า เราจะมาเจาะลึกถึงมาตรการด้านอื่นๆ ที่ กฟผ. แม่เมาะ ได้มองไปถึงต้นตอของปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่แท้จริง และได้เข้าไปแก้ปัญหาได้อย่างถูกจุด จนเกิดเป็นความสำเร็จ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: