กรุงเทพฯ – กทม. เปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘หมอ กทม.’ อำนวยความสะดวก ให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการแพทย์และรักษาพยาบาลได้สะดวก รวดเร็ว ลดความแออัด ลดระยะเวลารับบริการ-รอคอย และยังแจ้งเหตุกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉินได้ด้วย
วันที่ 4 มีนาคม 2565 พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เป็นประธานงานแถลงข่าวเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘หมอ กทม.’ ในโครงการ Smart OPD ณ โรงพยาบาลกลาง โดยมี นางสาวขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และคณะผู้บริหาร ร่วมงาน
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ระบุว่า กรุงเทพมหานคร โดยสำนักการแพทย์ ร่วมกับ ธนาคารกสิกรไทย จัดทำแอปพลิเคชัน ‘หมอ กทม.’ ซึ่งจะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคน ช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับบริการโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร ทั้ง 11 แห่ง ซึ่งสามารถดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน หมอ กทม. ได้แล้วตั้งแต่วันนี้
ช่วงแรกนี้ จะนำร่องที่โรงพยาบาลกลาง และสามารถใช้บริการในแอปฯ ได้บางส่วนก่อน ขณะกำลังเร่งเปิดให้บริการต่าง ๆ เพิ่มเติมให้ครบและครอบคลุมโรงพยาบาลทั้ง 11 แห่ง ภายในสิ้นเดือน มี.ค.นี้ หรืออย่างช้าไม่เกินต้นเดือน เม.ย.65 โดยเฉพาะในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ กทม.ตระหนักถึงความสำคัญของผลกระทบดังกล่าว จึงร่วมมือกับหน่วยงานทุกภาคส่วน ในการป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค ผ่านการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตในรูปแบบใหม่ หรือ New Normal ที่ต้องเว้นระยะห่าง ลดการสัมผัส เพื่อไม่ให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อในวงกว้าง
ข่าวน่าสนใจ:
การเปิดตัวแอปพลิเคชัน ‘หมอ กทม.’ ในโครงการ Smart OPD นับเป็นการบูรณาการร่วมกัน ในการพัฒนาระบบการให้บริการทางการแพทย์ ผ่านแอปพลิเคชันซึ่งจะเป็นช่องทางในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพ และเป็นการอำนวยความสะดวก ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์และการรักษาพยาบาลได้อย่างสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ผู้ป่วยสามารถใช้บริการด้วยตนเองผ่าน Mobile Application ซึ่งจะช่วยลดความแออัด ลดระยะเวลาการเข้ารับบริการ และระยะเวลารอคอย อีกทั้งยังสามารถแจ้งเหตุกรณีเจ็บป่วยฉุกเฉิน ที่สามารถแสดงพิกัดจุดเกิดเหตุได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนมีการให้คำแนะนำและส่งเสริมความรู้ด้านสุขภาพผ่านสื่อในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนสามารถนำความรู้มาใช้ในการดูแลสุขภาพของตนเองได้อย่างถูกต้อง
บริการในแอปพลิเคชัน ‘หมอ กทม.’ อาทิ
1.ตรวจรักษาออนไลน์ ด้วยระบบโทรเวชกรรม (Tele-medicine) สามารถตรวจรักษา ติดตามอาการตลอดจนได้รับคำแนะนำในการใช้ยาจากแพทย์ผ่านระบบวิดีโอคอล โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ผู้ใช้บริการสามารถรับยาผ่านไปรษณีย์ หรือรับด้วยตนเองที่ร้านยาใกล้บ้าน
2.แจ้งเหตุฉุกเฉินกับศูนย์เอราวัณ รับการช่วยเหลือเหตุเจ็บป่วยฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมง โดยระบบจะประสานงานไปยังหน่วยงานที่อยู่ใกล้เคียงพิกัดของผู้ใช้งาน ณ ขณะแจ้งเหตุผ่าน แอปพลิเคชัน เพื่อส่งทีมปฏิบัติการการแพทย์ฉุกเฉินเข้าไปให้การช่วยเหลือ ดูแลรักษา และนำส่งผู้เจ็บป่วยฉุกเฉินนั้นไปยังสถานพยาบาลที่เหมาะสมต่อไป
3.ตรวจสอบประวัติการรักษา เชื่อมโยงข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคลกับระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record : PHR) ทั้งผลวินิจฉัยโรค ประวัติการแพ้ยา/วัคซีน ประวัติรับยา ผลแล็ป การผ่าตัด ทำให้ผู้ใช้บริการสามารถรับบริการจากสถานพยาบาลอื่นได้อย่างสะดวก โดยสามารถเรียกดูข้อมูลการรักษาได้เองโดยไม่ต้องมาโรงพยาบาล ส่วนบุคลากรทางการแพทย์ก็ได้ข้อมูลที่ครบถ้วนประกอบการรักษา
4.บริการทั่วไป เช่น นัดหมายแพทย์ล่วงหน้า ตรวจสอบจำนวนคิวรอตรวจ การชำระเงิน ตรวจสอบสิทธิ์รักษา ลงทะเบียนตรวจรักษา ฯลฯ
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: