กรุงเทพฯ – คณะรัฐมนตรี เห็นชอบลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเหลือศูนย์ ช่วยบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้ประชาชน 6 เดือน พร้อมอนุมัติ กฟผ. กู้เงินเสริมสภาพคล่อง 2.5 หมื่นล้านบาท ชดเชยค่า Ft
วันที่ 8 มีนาคม 2565 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี อนุมัติปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิต น้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินและไม่เกินร้อยละ 0.005 โดยน้ำหนัก หรือ น้ำมันดีเซล บี 0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้า และขายไฟฟ้าทั้งหมดให้แก่ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
โดยกำหนดให้จัดเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์ มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.เป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งจะเป็นการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้าให้แก่ประชาชน
การผลิตกระแสไฟฟ้าของไทยในปัจจุบันกว่าร้อยละ 60 ผลิตจากก๊าซธรรมชาติ (NGV) แต่ราคาก๊าซธรรมชาติในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตกระแสไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จึงจำเป็นต้องใช้น้ำมันดีเซล (บี 0) และน้ำมันเตามาเป็นเชื้อเพลิงทดแทนก๊าซธรรมชาติ
นางสาวรัชดา กล่าวว่า การปรับลดภาษีสรรพสามิตสินค้าน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันครั้งนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการช่วยลดต้นทุนในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีภาระค่าไฟฟ้าลดลงประมาณ 1-1.50 บาทต่อหน่วย อีกทั้งการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคในภาคอุตสาหกรรมจะมีต้นทุนการผลิตที่ลดลงด้วย เนื่องจากภาระค่าไฟฟ้าที่ลดลง
รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงด้วยว่า ครม.ยังอนุมัติให้ กฟผ. กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินในปี 2565-2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 25,000 ล้านบาท ด้วยวิธีการจัดหาเงินกู้ในรูปแบบ Term Loan อายุไม่เกิน 3 ปี โดยกระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน ซึ่งในปี 2564 ที่ผ่านมา กฟผ.ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง เนื่องจากแบกรับภาระค่าไฟฟ้าอัตโนมัติหรือ ค่า Ft ตามมาตรการของรัฐบาล ในการตรึงค่าไฟฟ้าเพื่อช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
ซึ่งการผลิตไฟฟ้าในช่วงมาตรการตรึงค่าไฟฟ้านั้น มีต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขาดแคลนก๊าซธรรมชาติในประเทศ ทำให้ กฟผ.ต้องนำเข้า ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นมาก จึงจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ให้เพียงพอต่อการดำเนินภารกิจความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ และเป็นกลไกสำคัญของภาครัฐในการดำเนินมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: