X

​โฆษกรัฐบาล ระบุ ‘นายกฯ’ พุ่งเป้าช่วย ปชช. ท่ามกลางวิกฤตโลก

​กรุงเทพฯ – โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ย้ำ นายกรัฐมนตรีบริหารงานภายใต้วิกฤตโลกอย่างรอบคอบเป็นระบบ เน้นมาตรการช่วยเหลือประชาชน ขณะที่ ค่าใช้จ่ายตามมาตรการของรัฐ หมุนเวียนในระบบแล้ว 6.3 หมื่นล้านบาท

วันที่ 26 มีนาคม 2565 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด หลังจากรัฐบาลเดินหน้า 10 มาตรการระยะสั้น ดูแลคนทุกกลุ่ม เพิ่มเติมจากนโยบายที่ออกไปแล้วและยังใช้อยู่ ประกอบด้วย มาตรการดูแลครัวเรือนทั่วไป โดยลดค่าไฟฟ้าผันแปร (ft) สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าต่ำกว่า 300 หน่วย, มาตรการดูแลกลุ่มนายจ้างและผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม โดยลดอัตราเงินสมทบในกองทุนประกันสังคม, มาตรการดูแลกลุ่มผู้มีรายได้น้อยช่วยเหลือค่าก๊าซหุงต้ม และมาตรการดูแลกลุ่มขนส่งและโดยสารสาธารณะ กลุ่มมอเตอร์ไซค์รับจ้าง แท็กซี่มิเตอร์ โดยช่วยตรึงราคาน้ำมันดีเซลและราคาก๊าช เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างครอบคลุมทุกกลุ่มอาชีพ และบริการงานอย่างรอบคอบ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศด้วย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า ปัญหาราคาน้ำมันที่สูงขึ้น จากวิกฤตความขัดแย้งยูเครน-รัสเซีย รัฐบาลบาลได้ประเมินสถานการณ์ร่วมกันเบื้องต้น คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย 2 ช่องทางหลัก ได้แก่ 1.ผลกระทบต่อเงินเฟ้อ กรณีที่ราคาน้ำมันดิบดูไบ เพิ่มสูงขึ้นเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล คาดว่าจะทำให้อัตราเงินเฟ้อของไทยในปี 2565 จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นร้อยละ 5.0 และ 2.ผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากแนวโน้มการลดลงของนักท่องเที่ยวรัสเซียและยุโรป ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่เดินทางเข้าประเทศไทย

ภาพรวมของการช่วยเหลือประชาชนในช่วงวิกฤต 2 ปีที่ผ่านมา ที่ประสบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 แบ่งเป็น การช่วยเหลือทางด้านสาธารณสุข 213,581.51 ล้านบาท การช่วยเหลือเยียวยาประชาชน 869,430.94 ล้านบาท และการรักษาระดับการจ้างงานของผู้ประกอบการและการกระตุ้นการบริโภคในระบบเศรษฐกิจ 273,508.24 ล้านบาท ถือเป็นการช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า ภายใต้งบประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท

นายธนกร ยังเปิดเผยความคืบหน้า มาตรการลดภาระค่าครองชีพของรัฐ ปี 2565 จำนวน 3 โครงการ ที่เปิดให้ใช้จ่ายไป เมื่อ 1 ก.พ.65 (ข้อมูล ณ วันที่ 24 มี.ค.65) มีผู้ใช้สิทธิสะสม รวม 40.88 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม รวม 63,109.11 ล้านบาท ประกอบด้วย

1.โครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 26.26 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 57,443.8 ล้านบาท แบ่งเป็น ส่วนที่ประชาชนจ่ายสะสม 29,224.0 ล้านบาท และรัฐร่วมจ่ายสะสม 28,219.8 ล้านบาท
2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ระยะที่ 4 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 13.35 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 5,204.73 ล้านบาท
3.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ ระยะที่ 2 มีผู้ใช้สิทธิสะสม 1.27 ล้านคน ยอดใช้จ่ายสะสม 460.58 ล้านบาท

ทั้งนี้ ประชาชนสามารถใช้ได้ ถึง 30 เม.ย.65

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"