กรุงเทพฯ – 5 หน่วยงาน ลงนาม MOU ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนภาคที่อยู่อาศัย ผลักดันบ้านประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
วันที่ 30 มีนาคม 2565 นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน และประธานกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ‘การส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในภาคที่อยู่อาศัย’ ระหว่าง กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน, การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.), สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน, บริษัท เอสซีจี ซิเมนต์-ผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง จำกัด (SCG) และ บริษัท ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)
ในงานรับสร้างบ้านและวัสดุ Focus 2022 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ฮอลล์ 8 โดยนายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน เป็นผู้แทน กฟผ. ร่วมลงนาม
ข่าวน่าสนใจ:
นายกุลิศ สมบัติศิริ ระบุว่า รัฐบาลเห็นความสำคัญของที่อยู่อาศัย ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาคนและครอบครัวให้มีความมั่นคง และพร้อมให้การสนับสนุนทุก ๆ ด้าน เพื่อยกระดับคุณภาพการอยู่อาศัยของประชาชน โดยเฉพาะการอนุรักษ์พลังงาน เริ่มตั้งแต่การออกแบบ การวางแปลนบ้าน รวมถึงการเลือกวัสดุก่อสร้าง ที่ช่วยประหยัดพลังงาน ลดภาวะโลกร้อน ซึ่งผู้ประกอบการธุรกิจสร้างบ้านถือเป็นภาคส่วนสำคัญที่ช่วยผลักดันให้การประหยัดพลังงานในภาคอสังหาริมทรัพย์เกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน
นายสุทธิพงษ์ เฉลิมเกียรติ เสริมว่า ที่ผ่านมา กฟผ. มุ่งเน้นความสำคัญด้านการอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง เป็นระยะเวลากว่า 30 ปี โดยยึดหลักกลยุทธ์ 3 อ. ได้แก่
1.อุปกรณ์ไฟฟ้า ผ่านโครงการฉลากประหยัดไฟฟ้าเบอร์ 5 ซึ่งปัจจุบันมีผลิตภัณฑ์เบอร์ 5 จำนวน 22 ผลิตภัณฑ์
2.อาคาร ผ่านโครงการบ้านและอาคารเบอร์ 5 ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 สามารถตรวจประเมินและรับรองแบบบ้านเบอร์ 5 ทั้งโครงการของการเคหะแห่งชาติ และผู้ประกอบการภาคเอกชนไปแล้วมากกว่า 5,000 หลัง ประหยัดพลังงานในภาพรวมกว่า 8 ล้านหน่วยต่อปี ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กว่า 3,800 ตันต่อปี
3.อุปนิสัย ผ่านโครงการห้องเรียนสีเขียว เป็นต้น
ความร่วมมือครั้งนี้ กฟผ. จะให้การสนับสนุนการตรวจประเมินแบบบ้าน ให้คำแนะนำการปรับปรุงแบบบ้าน และรับรองแบบบ้านตามเกณฑ์ข้อกำหนดโครงการบ้านเบอร์ 5 ตลอดจนร่วมสนับสนุนการเผยแพร่ความรู้ที่เป็นประโยชน์ และจัดกิจกรรมส่งเสริมประชาสัมพันธ์
ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารจัดการความยั่งยืน กฟผ. กล่าวด้วยว่า บันทึกข้อตกลงฯ นี้ มีระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี โดยบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานพันธมิตรส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และการใช้พลังงานทดแทน ในภาคที่อยู่อาศัย ครอบคลุมการออกแบบ การสร้าง การจำหน่ายบ้านประหยัดพลังงานในประเทศไทย ส่งเสริมและเผยแพร่องค์ความรู้ เกี่ยวกับนวัตกรรมในภาคที่อยู่อาศัย และบ้านประหยัดพลังงาน รวมทั้งสนับสนุนแหล่งเงินทุนแก่ผู้ประกอบการ และประชาชนที่ต้องการเงินทุนเพื่อการซื้อ หรือก่อสร้างบ้านประหยัดพลังงาน นับเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ผลักดันประเทศ สู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างต่อเนื่องต่อไป
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: