X

ศ.(พิเศษ) ‘เสฐียรพงษ์ วรรณปก’ ราชบัณฑิต-นักปรัชญาศาสนา ในตำนาน

กรุงเทพฯ – อาลัย ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก นักปรัชญาศาสนาที่หาตัวจับยาก และสามเณรประโยค 9 รูปแรกในรัชกาลที่ 9 เสียชีวิตในวัย 83 ปี

ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ และนักปรัชญาศาสนา เสียชีวิตในวัย 83 ปี เมื่อเวลา 18.33 น.ของวันที่ 6 เมษายน 2565 ขณะเข้ารับการรักษาตัว ที่โรงพยาบาลศิริราช ญาติแจ้งว่า สาเหตุหลักของการเสียชีวิต เนื่องจากอาการทรุด เพราะเส้นเลือดในช่องท้องกับหัวใจที่ทำไว้แต่เดิมปริออก

ญาติตั้งศพบำเพ็ญกุศล ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์ ท่าเตียน) โดยจะสวดพระอภิธรรมเป็นเวลา 5 คืน หลังจากนั้น จะเก็บศพไว้ 100 วัน ก่อนพระราชเพลิงต่อไป

ประวัติโดยย่อ
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นอาจารย์และนักวิชาการทางด้านศาสนาพุทธและภาษาบาลี ราชบัณฑิตสาขาศาสนศาสตร์ และยังเป็นนักเขียนบทกวี ตำรา และบทความในนิตยสารหลายฉบับ เริ่มเขียนบทความให้นิตยสารต่วยตูน แล้วได้รับการชักนำให้เขียนลงคอลัมน์ประจำให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก่อนย้ายไปเขียนประจำให้หนังสือพิมพ์ในเครือมติชนและข่าวสด มีชื่อเสียงโด่งดังจากการเขียนวิจารณ์พระสงฆ์ที่ปฏิบัตินอกรีต โดยเฉพาะกรณีอดีตพระยันตระ อมโร

เกิดวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2482 ที่ จ.มหาสารคาม เมื่อเรียนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดอัมพวัน วัดประจำหมู่บ้าน กระทั่งสอบได้นักธรรมชั้นโท จึงย้ายไปศึกษาต่อที่วัดมหาธาตุ อ.เมืองนครพนม เป็นลูกศิษย์พระมหาชม ธมฺมธีโร (พระราชปริยัตยาจารย์ อดีตเจ้าคณะจังหวัดนครพนม) สอบได้นักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม 3 ประโยค

จากนั้น กลับไปอยู่ที่วัดอัมพวันบ้านเกิด สอบได้เปรียญธรรม 4 ประโยค แล้วจึงเดินทางไปศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดทองนพคุณ เขตคลองสาน กรุงเทพมหานคร เป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) อดีตเจ้าอาวาสวัดทองนพคุณ พ.ศ.2508 เดินทางไปศึกษาภาษา-สันสกฤต ณ วิทยาลัยตรินิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ ได้รับทุนจากมูลนิธิเอเชียและมูลนิธิการศึกษาวัดทองนพคุณ พ.ศ.2512 สำเร็จการศึกษาปริญญาตรีสาขาอักษรศาสตร์ (เกียรตินิยม)

เมื่อเดินทางกลับประเทศไทย ได้สอนพระปริยัติธรรม ณ วัดทองนพคุณ พ.ศ.2514 ลาสิกขา และรับราชการเป็นอาจารย์คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จ.นครปฐม พ.ศ.2519 โอนไปเป็นอาจารย์สอนวิชาศาสนาเปรียบเทียบที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พ.ศ.2522 โอนกลับไปคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร จนได้รับการแต่งตั้งเป็นรองศาสตราจารย์ระดับ 9 ก่อนจะลาออกจากราชการเมื่อ พ.ศ.2535 ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็น ศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

วิทยฐานะ
เปรียญธรรม 9 ประโยค ขณะเป็นสามเณร (รูปแรกในรัชกาลที่ 9 สมัยเริ่มสอบด้วยข้อเขียน และเป็นรูปที่ 3 ในสมัยรัตนโกสินทร์) อุปสมบทในพระบรมราชูปถัมภ์

ปริญญาตรี (เกียรตินิยม) สาขาอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

ปริญญาโท สาขาภาษาตะวันออกโบราณ (บาสี-สันสกฤต) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาศาสนาและปรัชญา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม พ.ศ.2548

ดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ.2550

ส.ศิวรักษ์ นักเขียนชื่อดัง โพสต์อาลัย
นายสุลักษณ์ ศิวรักษ์ หรือ ส.ศิวรักษ์ นักเขียนชื่อดัง โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก อาลัยต่อการจากไปของ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก ระบุว่า

แด่ เสฐียรพงษ์ วรรณปก

เสฐียรพงษ์ วรรณปก เป็นสามเณรประโยค 9 รูปแรกในรัชกาลที่ 9 และเป็นรูปแรกแต่เกิดการสอบแบบข้อเขียนแทนการสอบปากเปล่าดังแต่ก่อน เขาเป็นศิษย์ของพระธรรมเจดีย์ (กี มารชิโน) แห่งสำนักเรียนวัดทองนพคุณ

ต่อมาเสฐียรพงษ์ได้ทุนไปเรียนที่วิทยาลัยตรีนิตี้ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ทั้งๆ ที่ยังบวชอยู่ อาจจะเรียกได้ว่าเป็นพระไทยรูปแรกที่จบจากที่นั่น เสียดายที่กลับมาไม่ทันไร เขาก็สึก

เขาถนัดเป็นนักหนังสือพิมพ์มากกว่าเป็นครูบาอาจารย์ ทั้งที่เขาเคยอยู่มหาวิทยาลัย เดิมเขาเขียนให้หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ต่อมาเมื่อไทยรัฐไม่เล่นงานธรรมกาย เขาจึงย้ายมาอยู่กับมติชน และมีผลงานรวมเล่มมากมาย ทั้งกับสำนักพิมพ์มติชน และกับทางเคล็ดไทย ภาษาไทยเขาดี หนังสือที่มีชื่อเสียงก็เป็นหนังสือตั้งชื่อ ที่เขาสามารถตั้งชื่อคนเพราะๆ

ผมกับเขาเป็นกัลยาณมิตรกันมายาวนาน เมื่อเขาตายจากไป ก็หวังว่าเขาจะไปสู่สุคติในสัมปรายภพ

ส. ศิวรักษ์
6-4-65

 

ถูกใจข่าวนี้ไหม?

คลิกที่ดาวเพื่อโหวต

ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต:

ติดตามข่าวสารผ่าน Line 77 ข่าวเด็ด กดปุ่มเพิ่มเพื่อนเลย

เพิ่มเพื่อน

Picture of ลักขณา สุริยงค์

ลักขณา สุริยงค์

ทำหน้าที่สื่อมวลชนมาเกือบ 30 ปี ทั้งงานสายข่าวและจัดรายการทีวี-วิทยุมานับไม่ถ้วน "ไม่เป็นกลาง แต่เป็นธรรม พร้อมนำเสนอความจริง"