พัทลุง – บพท. ประสานพลัง มหาวิทยาทักษิณ เดินหน้าโครงการ ‘กระจูดแก้จน’ เติมความรู้ เพิ่มทักษะ จากงานศึกษาวิจัย เสริมความเข้มแข็ง ยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตชาวบ้าน ใน จ.พัทลุง
วันที่ 11 เมษายน 2565 รศ.ดร.ณฐพงศ์ จิตรนิรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ระบุว่า โครงการวิจัยและพัฒนาการแก้ไขปัญหาความยากจนแบบเบ็ดเสร็จและแม่นยำ ของมหาวิทยาลัย ได้รับการสนับสนุนจาก หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในสังกัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยจัดทำในพื้นที่ จ.พัทลุง ซึ่งจะมีกิจกรรมหลัก 4 เรื่อง ประกอบด้วย
1.การสอบทานข้อมูลคนจนในระบบ TP-MAP
2,การส่งต่อการช่วยเหลือคนจนไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
3.การติดตามข้อมูลการส่งต่อการช่วยเหลือที่ส่งไปให้หน่วยงานต่าง ๆ
4.การจัดทำโครงการ ‘โมเดลแก้จน’
ข่าวน่าสนใจ:
หลังจากที่ทีมวิจัยได้สอบทานข้อมูลคนจนในจังหวัดพัทลุง จากฐานข้อมูลระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า (TP-MAP) จำนวน 13,902 ครัวเรือน พบคนจน 14,342 คน ทีมวิจัยจึงลงพื้นที่เก็บข้อมูลอย่างละเอียดทั้ง 11 อำเภอ ภายใน 73 พื้นที่ ครอบคลุม 65 ตำบล และ 8 เขตเทศบาล คิดเป็น 100% ของ จ.พัทลุง เพื่อบันทึกลงในระบบ PPP-connext พบว่ามีครัวเรือนยากจน 14,205 ครัวเรือน และค้นพบคนจนรวมทุกครัวเรือน 59,449 คน พื้นที่ที่มีคนจนกระจุกตัวอยู่มากที่สุด คือ อ.ควนขนุน อ.เมือง และ อ.ปากพะยูน
“กลุ่มคนจนที่เราให้ความสำคัญ คือ กลุ่มคนจนระดับอยู่ลำบากและกลุ่มคนจนอยู่ยาก ในภาพรวม จ.พัทลุง ทุนมนุษย์ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.85 ถือว่าอยู่ยาก ทุนทางสังคม เช่น การรวมกลุ่มการช่วยเหลือ ความขัดแย้ง ฯลฯ อยู่ที่ 1.53 ถือว่าอยู่ระดับน้อยก็อยู่ลำบาก ส่วนทุนกายภาพ ทุนทางเศรษฐกิจหรือทุนทรัพยากรธรรมชาติ ถือว่าอยู่ระดับที่ประมาณ 2.7 และ 2.8 ถือว่าพออยู่ได้ เพราะฉะนั้นจึงเป็นที่มาที่เราเลือกทำที่ 3 อำเภอนี้” รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
‘โมเดลแก้จน หรือ กระจูดแก้จน’ ที่ อ.ควนขนุน ถือเป็นโครงการนำร่อง ภายใต้หลักคิดของการผสมผสานเรื่ององค์ความรู้ที่เป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่น เข้ากับระบบภูมินิเวศน์ และองค์ความรู้ที่เป็นวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรมจากมหาวิทยาลัย ทั้ง 3 ส่วนนี้เข้าด้วยกัน จะทำให้เกิดการขับเคลื่อนเพื่อการแก้ไขปัญหาคนจนได้อย่างมีศักยภาพและมีพลัง โครงการนี้ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนและการแสดงออกโดยกลุ่มคนจนเป้าหมาย ที่จะเข้ามาเป็นผู้ออกแบบหรือวางแผน เพื่อจัดทำกิจกรรมด้วยพลังและกระบวนการกลุ่มที่เขาจัดทำขึ้น เชื่อมั่นว่ากระบวนการปลุก จะทำให้เกิดการเสริมแรงแล้วก็เสริมพลัง และเติมความมั่นใจให้กลุ่มพี่น้องคนจนเหล่านี้ได้แสดงออก แล้วร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อการพัฒนาคุณภาพชีวิตหรือยกระดับคุณภาพชีวิตของพวกเขาได้
นอกจากนี้ ยังเป็นการประสานความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยกับกลุ่มคนจนเป้าหมาย รวมถึงผู้ประกอบการในพื้นที่ อย่างกิจการกระจูดวรรณี ซึ่งเป็นผู้ประกอบการที่มีชื่อเสียงในการนำกระจูดไปเผยแพร่จนเป็นที่โด่งดัง ทั้งในระดับประเทศและในระดับโลก ตลอดจนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ และหน่วยงานภาครัฐในระดับจังหวัดที่เข้ามาร่วมกันเติมเต็ม
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ กล่าวต่อว่า การเติมความคิด เติมพลัง และเติมความตั้งใจให้กลุ่มคนจนเป้าหมาย เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก เพราะการไปสร้างพื้นที่ที่ทำให้เกิดการรวมกลุ่ม จะทำให้ชาวบ้านเกิดพลังและความมั่นใจว่า เขาสามารถที่จะพึ่งพาตนเองได้แล้วก็ช่วยเหลือกันเองได้ในกลุ่ม
ประเด็นต่อมา เป็นเรื่องการ Reskill และ Upskill ต่าง ๆ เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการออกแบบลวดลายใหม่ๆ ที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาด โดยมอบหมายให้อาจารย์จากคณะศิลปกรรมผู้ออกแบบท่าร่ายรำมโนราห์ในท่าต่าง ๆ และจดทะเบียนเป็นทรัพย์สินทางปัญญาไว้ นำไปถ่ายทอดใส่ไว้ในลวดลายของการสานงานผลิตภัณฑ์กระจูด เพราะฉะนั้นจึงมีทั้งลายใหม่ ลายเก่าดั้งเดิมที่เป็นที่นิยมกับลายที่ผ่านการประยุกต์ดัดแปลงให้มีความเหมาะสมต่อรสนิยมหรือว่ามีความทันสมัยมากขึ้น รวมถึงการให้ความรู้ในเรื่องของการใช้สีจากธรรมชาติ เช่น สีจากดิน สีจากดอกบัว การย้อมสีแล้วไม่หลุดลอก ไม่ให้สีซีดหรือสีจาง ด้วยองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่เข้าไปเติมให้
“ความจริงชุมชนทะเลน้อยมีกิจกรรมสานเสื่อ สานกระจูดแบบง่าย ๆ เพื่อขายกันในท้องถิ่นอยู่แล้ว แต่พอทีมวิจัยเข้าไปส่งเสริมเรื่องการรวมกลุ่ม ใช้พลังกลุ่มในการสร้างความร่วมมือและยกระดับคุณภาพของสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ให้ได้มาตรฐานมากยิ่งขึ้น มันก็สามารถเพิ่มมูลค่าของสินค้าได้ อย่างชาวบ้านกลุ่มที่เราเข้าไปส่งเสริมจะมีรายได้ในระดับครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่าตัว และพวกเขาก็ไปตั้งกลุ่มชื่อว่า “กลุ่มเลน้อยคราฟ” มีการทำเพจ นำสินค้าไปขายในช่องทางออนไลน์ มีการไลฟ์สด ทำกันเองจนทุกวันนี้เริ่มเป็นที่รู้จักกันมากขึ้น” รศ.ดร.ณฐพงศ์ กล่าว
รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยทักษิณ ระบุอีกว่า นอกจากการหนุนเสริมของภาคีในพื้นที่ โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกับทั้งภาคเอกชน และหน่วยราชการในพื้นที่ เป็นห่วงโซ่ของความร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาความยากจนอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นโจทย์วิจัยที่สำคัญ ขณะนี้ทีมวิจัยพยายามที่จะจัดการ chain ความร่วมมือให้มากขึ้น เช่น ไม่ทำแค่เรื่องคนสานกระจูด แต่เรากลับไปดูที่ต้นน้ำเรื่องของการปลูกกระจูดในพื้นที่ที่ถูกปล่อยรกร้างว่างเปล่า หรือไม่ได้ใช้ประโยชน์
รศ. ดร.ณฐพงศ์ กล่าวอีกว่า จากตัวเลขของคนที่เข้าร่วมโครงการจากประมาณ 50 ครัวเรือน เชื่อว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะเป็นนวัตกรกลุ่มแรกที่จะเป็นตัวเร่งแล้วก็ขยายฐานที่นำไปสู่กลุ่มคนจนเป้าหมายในพื้นที่อื่น ๆ ในทะเลน้อยที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ หรือว่าที่ยังครอบคลุมไปไม่ถึง
โดยพบว่ากลุ่มคนที่มาร่วมโครงการจะมีทั้งกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มคนรุ่นกลาง และกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นกลุ่มคนที่ขาดโอกาสทางการศึกษา หากสามารถผสมผสานศักยภาพของคน 3 รุ่นนี้ได้ จะเป็นพลังอันมหาศาลมาก ซึ่งได้บทเรียนจากกลุ่มที่จะประสบความสำเร็จ เช่น ในการทำผลิตภัณฑ์เลน้อยคราฟออกมา ช่วงทดลองไลฟ์สดขายทางออนไลน์ปรากฏว่ากลุ่มคนรุ่นใหม่ทำได้ดีมาก ๆ เพราะมีทักษะด้านไอที-เทคโนโลยี ในขั้นตอนการทำลวดลายคนรุ่นใหม่อาจจะไม่เก่งและคล่องเท่ากับคนรุ่นอาวุโส เป็นต้น
สำหรับตลาดผลิตภัณฑ์กระจูดนั้น ตลาดในต่างประเทศยังไม่ได้เปิดเนื่องจากทุกวัน นี้ลำพังตลาดออนไลน์ที่กลุ่มทำแล้วขายก็ยังผลิตไม่ค่อยจะทัน
ด้านนางบุษรา ทองนวล ประธานชุมชนทะเลน้อย จ.พัทลุง กล่าวขอบคุณบพท. และมหาวิทยาลัย ที่ได้มอบสิ่งดี ๆ ให้ชุมชนทะเลน้อย ก่อนที่ทีมทำงานวิจัยเข้ามา ชาวบ้านประกอบอาชีพทำจักสานกระจูด แต่ไม่มีวัตถุดิบจึงต้องสั่งซื้อวัตถุดิบจาก จ.นครศรีธรรมราช ผ่านพ่อค้าคนกลาง เมื่อหักค่าใช้จ่ายและค่าวัตถุดิบแล้ว จะเหลือประมาณไม่เกินวันละ 150 บาทเท่านั้น เมื่อมหาวิทยาลัยเข้ามาให้ความรู้ ตั้งแต่เริ่มแรก คือ สอนเรื่องการคัดเส้นใยกระจูด การย้อมสีธรรมชาติ ส่วนเรื่องการสานขึ้นรูปกระเป๋าก็จะมีการสอนจากบรรดาผู้สูงอายุ โดยมีอาจารย์ให้ความช่วยเหลือด้านการทำตลาด และ ‘วรรณีกระจูด’ ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง นำสินค้าไปช่วยโปรโมท รวมทั้งยังมีการสอนเรื่องการขายทางออนไลน์ และการไลฟ์สดขายสินค้าให้ด้วย
ผลจากการเข้าร่วมโครงการวิจัยกับมหาวิทยาลัย ทำให้คนในชุมชนทะเลน้อย มีรายได้เพิ่มมากขึ้นกว่าเท่าตัว จากที่เคยได้อยู่ 4,500 บาทต่อเดือน เมื่องานวิจัยเข้ามามีอาจารย์เข้ามาช่วยทำให้คนในชุมชนมีรายได้เพิ่มเป็นหมื่นบาท อีกประการ คือ เป็นการผสมผสานระหว่างวัยในการทำงานได้ดีมาก
ประการสำคัญที่สุด คือ งานวิจัยยังช่วยในเรื่องของสุขภาพ เดิมงานสานกระเป๋าก็ดีหรือสานเสื่อมักจะนิยมใช้สีเคมีในการผลิต ซึ่งสีเหล่านี้จะทำลายสุขภาพ แต่สีธรรมชาติซึ่งเราสามารถหาได้ในพื้นที่ทะเลน้อย เรียกว่าดีต่อคนรักสุขภาพอย่างแท้จริง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: