ชลบุรี – กฟผ. และ กธช. ลงนาม MOU ‘โครงการรวมพลังขับเคลื่อนศาสตร์พระราชาสืบสานงานของพ่อ’ และ ’โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม’ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนไทย ด้วยแนวทางศาสตร์พระราชาและภูมิปัญญาท้องถิ่น พร้อมเดินหน้าสร้างพื้นที่ป่าอย่างยั่งยืน
ดร.จิราพร ศิริคำ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ เป็นผู้แทน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) 2 ฉบับ ‘โครงการรวมพลังขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา สืบสานงานของพ่อ’ และ ‘โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม’ กับ นายไตรภพ โคตรวงษา ประธานมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ (กธช.)
โดยได้รับเกียรติจาก ดร.วิวัฒน์ ศัลยกำธร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และที่ปรึกษามูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติกล่าวปาฐกถาพิเศษ ณ ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี
ข่าวน่าสนใจ:
- นครพนม: เลขาธิการ ป.ป.ส. และ มทภ.2/ผบ.นบ.ยส.24 ประชุมสรุปผลรอบ 3 เดือน โชว์ผลงานยึดยาบ้ากว่า 45 ล้านเม็ด มูลค่ากว่า 3 พันล้านบาท
- สีสันยามค่ำ ท่าแร่แล่นเด้อ ไนท์ คัลเลอร์รัน 2024
- สอ.สามัญศึกษาเพชรบูรณ์ประชุมใหญ่ โชว์กำไร 52 ล้าน พร้อมเลือกตั้งกรรมการและผู้ตรวจสอบกิจการ
- บ้านใหญ่พรรคเพื่อไทยเชียงราย เปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ.พร้อมกับนำทีมผู้สมัคร สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงราย ทั้ง 36 เขต ในนามพรรคเพื่อไทย
ดร.จิราพร ระบุว่า กฟผ.มุ่งมั่นในการพัฒนา ฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ด้านความยั่งยืน โดยเน้นพื้นที่ลุ่มน้ำที่มีความสัมพันธ์กับ 7 เขื่อนพระนาม 3 โรงไฟฟ้าของ กฟผ. อันได้แก่ เขื่อนวชิราลงกรณ เขื่อนศรีนครินทร์เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนสิรินธร เขื่อนจุฬาภรณ์ เขื่อนอุบลรัตน์ โรงไฟฟ้าแม่เมาะโรงไฟฟ้าบางปะกง และโรงไฟฟ้าวังน้อย จึงได้ร่วมกับ กธช. จัดทำ ‘โครงการรวมพลังขับเคลื่อนศาสตร์พระราชา สืบสานงานของพ่อ’ โดยน้อมนำศาสตร์พระราชาตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มาเป็นแนวทางในการดำเนินงานควบคู่ไปกับการสร้างความรู้และความเข้าใจให้ประชาชนตระหนักและเห็นความสำคัญในการฟื้นฟูและพัฒนาลุ่มนํ้า ซึ่งมีเป้าหมาย “หยุดท่วม-หยุดแล้ง อย่างยั่งยืน”
รวมถึงสนับสนุนและพัฒนาศูนย์เรียนรู้กสิกรรมธรรมชาติภายในชุมชนสู่การเป็นศูนย์ต้นแบบการพัฒนามนุษย์ตลอดชีวิต ขยายผลพื้นที่ตัวอย่างต้นแบบโคก หนอง นาโมเดล เพื่อถ่ายทอดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร สู่การปฏิบัติจริง
นอกจากนี้ กฟผ. พร้อมขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำภายใต้นโยบาย EGAT Carbon Neutrality จึงได้ดำเนินแผนงานปลูกป่าล้านไร่อย่างมีส่วนร่วมร่วมกับภาคีเครือข่าย โดยมีเป้าหมายปลูกป่า 1 ล้านไร่ ภายในระยะเวลา 10 ปี ระหว่างปีพ.ศ.2565 – 2574 และบำรุงรักษาต่อเนื่องอีก 9 ปี ซึ่งมีทั้งป่าต้นน้ำ ป่าบก และป่าชายเลน โดยในปี 2565 กฟผ. มีแผนลงพื้นที่ปลูกป่าในหลายพื้นที่ เช่น ป่าต้นน้ำ จ.น่านแพร่ ลำปาง เชียงใหม่ เชียงราย และตาก ป่าชายเลน จ.ชุมพร ปลูกหญ้าทะเลที่เกาะลิบง จ.ตรัง
กฟผ. จึงได้ร่วมกับ กธช. ใน ‘โครงการปลูกป่าอย่างมีส่วนร่วม’ โดย กธช. จะเพาะพันธุ์กล้าไม้ และส่งเสริมการปลูกป่าจำนวนไม่น้อยกว่า 600,000 ต้น ได้แก่ ไม้ทรงคุณค่าตามภูมิภาค เช่น สัก ประดู่ มะค่า และไม้ยืนต้น เพื่อส่งเสริมการปลูกป่าชุมชนและป่าเพื่อประโยชน์ใช้สอยร่วมกันในพื้นที่ชุมชนและภาคีเครือข่ายในพื้นที่ต่าง ๆ เพิ่มศักยภาพการกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ พร้อมสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนและสังคม โดยการจัดอบรมเพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจแนวคิดทฤษฎีการปลูกป่าตามแนวพระราชดำริและตามหลักกสิกรรมธรรมชาติสู่การเพิ่มพื้นที่สีเขียวอย่างยั่งยืน อีกทั้งสนับสนุนทีมอาสาสมัครในพื้นที่เพื่อติดตามดูแลพื้นที่ป่าที่ปลูกร่วมกันอย่างต่อเนื่อง
บันทึกข้อตกลงทั้ง 2 ฉบับ มีระยะเวลาดำเนินการ 1 ปี โดย กฟผ. และ กธช. จะร่วมกันดำเนินภารกิจต่าง ๆ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตชุมชน ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: