กรุงเทพฯ – เกรท วอลล์ มอเตอร์ ผู้นำด้านยานยนต์ไฟฟ้าของประเทศไทย ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ส่งเสริมและสนับสนุนการขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้า และพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ร่วมสร้างระบบนิเวศรถยนต์พลังงานไฟฟ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น พร้อมขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือดังกล่าว ซึ่งจัดขึ้น เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2565 โดยมี มร.ไมเคิล ฉง รองประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย), นายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย, นายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง และนายศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เป็นผู้ลงนาม
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ ระบุว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการส่งเสริมสนับสนุนขับเคลื่อนยานยนต์ไฟฟ้าและพัฒนาสถานีอัดประจุไฟฟ้า ระหว่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ กับ กฟผ. กฟน. และ กฟภ. แสดงให้เห็นถึงบทบาทสําคัญของภาครัฐและภาคเอกชน ในการร่วมมือกันขับเคลื่อนนโยบายของรัฐบาลและกระทรวงพลังงาน พร้อมผลักดันประเทศไทยสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ส่งเสริมสภาพแวดล้อมทางธุรกิจในไทย ให้เอื้อต่อการจําหน่ายและผลิตรถยนต์ไฟฟ้า รวมถึงการสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ครอบคลุม เพื่อมุ่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าในไทยให้เติบโตอย่างมั่นคงต่อไป
ด้าน มร.ไมเคิล ฉง รองประธาน เกรท วอลล์ มอเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า หลังจากภาครัฐมีนโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ทำให้หลายภาคส่วนพร้อมผนึกกำลังร่วมขับเคลื่อนประเทศไทย ไปสู่สังคมยนตรกรรมแห่งอนาคต เกรท วอลล์ มอเตอร์ เป็นแบรนด์รถยนต์กลุ่มแรกที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจกับรัฐบาลไทย เพื่อผลักดันนโยบายสนับสนุนรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
ความร่วมมือระหว่าง เกรท วอลล์ มอเตอร์ กับ กฟผ. กฟน. กฟภ. ครั้งนี้ จะช่วยเสริมสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งในแง่การดำเนินการสำรวจเชิงลึกเกี่ยวกับสถานีอัดประจุไฟฟ้า การแบ่งปันทักษะและความรู้ความชำนาญในการติดตั้ง รวมถึงการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี นวัตกรรม และรูปแบบการบริการ
ข่าวน่าสนใจ:
ซึ่งในปี 2565 เกรท วอลล์ มอเตอร์ มีแผนจะสร้างสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้เพิ่มขึ้นเป็น 55 แห่ง การร่วมมือกับ 3 การไฟฟ้านี้ จะเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยสนับสนุนให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม
นอกจากนี้ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ยังเสริมความแข็งแกร่งให้กลยุทธ์ระดับภูมิภาค โดยตั้งเป้าให้ ‘ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง และขยายตลาดเข้าสู่อาเซียน’ ส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายประเทศไทย ในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์พลังงานไฟฟ้าในภูมิภาคอาเซียน ในอนาคต จะทำงานร่วมกับพันธมิตร โดยอำนวยความสะดวกให้ผู้บริโภคชาวไทย ในการเดินทางด้วยยานพาหนะไฟฟ้า สำรวจรูปแบบ และโอกาสทางอุตสาหกรรมใหม่เพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานใหม่ของไทย รวมถึงการยกระดับอุตสาหกรรมยานยนต์ในภูมิภาคอาเซียน
ด้านนายบุญญนิตย์ วงศ์รักมิตร ผู้ว่าการ กฟผ. เปิดเผยว่า กฟผ. มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบไฟฟ้ามาตลอด 52 ปี และมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการสร้างระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าของไทยมาอย่างต่อเนื่อง ให้ผู้ประกอบการและผู้ผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ สะดวก ปลอดภัย และรวดเร็ว ทั้งด้านรถยนต์ไฟฟ้าและด้านเครือข่ายการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้า การพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถแบ่งปันข้อมูลกันได้ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมและธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า
กฟผ. ยินดีอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าชั้นนำ เช่น เกรท วอลล์ มอเตอร์ เพื่อร่วมสนับสนุน ให้ประเทศไทยมุ่งสู่เป้าหมายที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าให้มีจำนวน 30% ของการผลิตทั้งหมดในปี 2573 ซึ่งจะช่วยแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศและปัญหาภาวะโลกร้อน พร้อมช่วยสร้างสังคมสีเขียวให้แก่ประเทศไทยต่อไป
ปัจจุบัน กฟผ. เปิดให้บริการสถานี EleX by EGAT พร้อมสถานีพันธมิตรในเครือข่าย EleXA แล้วจำนวน 49 สถานีทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าขยายสถานีชาร์จ EleX by EGAT ให้มีจำนวนรวมกว่า 120 สถานีให้ได้ภายในสิ้นปี 2565 นี้ เพื่อครอบคลุมการเดินทางทั่วประเทศมากยิ่งขึ้น
ส่วนนายวิลาศ เฉลยสัตย์ ผู้ว่าการ กฟน. กล่าวว่า ยินดีที่ได้ร่วมมือกับเกรท วอลล์ มอเตอร์ สนับสนุนและผลักดันตามแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า นโยบาย 30@30 ของคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ เพื่อเตรียมความพร้อมในการรองรับการเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ด้วยการสร้างระบบนิเวศของรถยนต์ไฟฟ้าให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ปัจจุบัน กฟน. วางแผนปรับปรุงโครงข่ายระบบไฟฟ้าในพื้นที่จำหน่ายให้เป็นโครงข่ายอัจฉริยะ (Smart Metro Grid) และมีแผนขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ พร้อมอำนวยความสะดวกในการให้บริการหัวชาร์จ MEA EV ที่ได้มาตรฐานและปลอดภัย แก่ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าผ่าน MEA EV Application ที่ได้พัฒนาการใช้งานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และสร้างประสบการณ์ที่ดีต่อผู้ใช้งานมากขึ้น เชื่อมต่อบนแพลตฟอร์มระบบบริหารจัดการเครื่องอัดประจุไฟฟ้าอัจฉริยะ ที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติที่เกี่ยวข้องกับการชาร์จ สำหรับวางแผนการพัฒนาระบบไฟฟ้าและการให้บริการ เป็นการส่งเสริมสนับสนุนการใช้ยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย พร้อมยินดีให้ความร่วมมือเอกชนทุกภาคส่วนส่งเสริมดำเนินตามนโยบายภาครัฐต่อไป
ขณะที่ ศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการ กฟภ. ปิดท้ายว่า จากความตั้งใจของ เกรท วอลล์ มอเตอร์ ในการยกระดับระบบนิเวศยานยนต์ไฟฟ้าไทย ให้ทัดเทียมในระดับสากล กฟภ.จึงพร้อมสนับสนุน ขยายเขตไฟฟ้าและโครงสร้างพื้นฐานให้ดียิ่งขึ้น เพื่อรองรับปริมาณรถยนต์พลังงานไฟฟ้า ที่กำลังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย กฟภ. ขยายสถานีอัดประจุไฟฟ้าไปแล้ว 73 สถานี และมีแผนขยายจำนวนสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพิ่มอีก 190 สถานี รวมเป็น 263 สถานี ภายในปี 2566
รวมถึงพัฒนาการใช้แอปพลิเคชัน PEA VOLTA Application ที่จะช่วยให้ผู้ใช้งานสามารถค้นหาตำแหน่ง นำทาง สั่งชาร์จ ชำระค่าบริการ และตรวจสอบประวัติการใช้งาน ได้สะดวกยิ่งขึ้น เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นที่จะผลักดันประเทศไทยให้มีการใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ทำให้เกิดสังคมสีเขียว สร้างงานสร้างอาชีพ ไปพร้อมกับการพัฒนาเศรษฐกิจให้คนไทยต่อไป
ความร่วมมือระหว่างเกรท วอลล์ มอเตอร์ กับ 3 หน่วยงานการไฟฟ้านี้ จะครอบคลุมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า เพื่อรองรับการเติบโตของรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทย ทั้งการติดตั้งและการพัฒนาสถานีประจุไฟฟ้า การแบ่งปันองค์ความรู้ที่สำคัญในการดำเนินการ พร้อมยกระดับแอปพลิเคชันและแพลตฟอร์มที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในอนาคต โดยมีรายละเอียด ดังนี้
♦ กฟผ. ร่วมมือในการขยายเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้าในรูปแบบ Fast-charge พร้อมพัฒนา Charging Mobile Application ที่สามารถใช้งานร่วมกันได้ ทั้งการแลกคะแนนสะสมระหว่างแพลตฟอร์ม และการระบุเครือข่ายสถานีอัดประจุไฟฟ้า เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้งาน ส่งเสริมการตลาด การพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านยานยนต์ไฟฟ้า การศึกษาวิจัยแนวโน้มของแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งการศึกษาความเป็นไปได้และโอกาสในรูปแบบธุรกิจอื่น ๆ
♦ กฟน. แลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิค และการศึกษาวิจัยความเป็นไปได้ในการนำแบตเตอรี่ยานยนต์ไฟฟ้ามาใช้ซ้ำและการรีไซเคิล รวมถึงการฝึกอบรมด้านสถานีอัดประจุไฟฟ้า โดยเป็นพันธมิตรหลักในการติดตั้งสถานีอัดประจุไฟฟ้าให้กับสถานีชาร์จเร็ว (G-Charge) สถานีพาร์ทเนอร์ สโตร์ (Partner store) และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบปลายทาง (Destination) พร้อมเชื่อมต่อการให้บริการในการจองสถานีและชำระเงินผ่านทั้งแอปพลิเคชันของ กฟน. และ GWM Application นอกจากนี้ยังส่งเสริมให้เกิดผลิตภัณฑ์และบริการทางด้านยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างยั่งยืน
♦ กฟภ. แลกเปลี่ยนข้อมูลทางเทคนิคของระบบการทำงานของยานยนต์ไฟฟ้า และระบบของสถานีอัดประจุไฟฟ้าเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน รวมถึงเป็นพันธมิตรหลักในการขยายเขตไฟฟ้า การติดตั้งหม้อแปลงให้กับสถานีพาร์ทเนอร์ สโตร์ (Partner store) และสถานีอัดประจุไฟฟ้าแบบปลายทาง (Destination) เพื่อสร้างความมั่นใจ ความปลอดภัย ในการใช้ไฟฟ้า พร้อมสนับสนุนกิจกรรมทางการตลาด และการพัฒนาแอปพลิเคชันให้สามารถเชื่อมโยงข้อมูลของสถานีอัดประจุไฟฟ้าและอำนวยความสะดวกในการจองสถานีชาร์จและชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันได้อีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: