กรุงเทพฯ – นายกรัฐมนตรี เปิดงาน ‘วันแรงงานแห่งชาติ’ ยืนยัน รัฐบาลไม่ทอดทิ้ง และตระหนักดี ผู้ใช้แรงงานเป็นกำลังสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมรับ 8 ข้อเสนอ ประกาศ เรื่องไหนง่าย มีงบ ไม่กระทบเรื่องอื่น ไม่ปฏิเสธ แจง ขึ้นค่าแรงต้องดูเงินเฟ้อ หวั่น ย้ายฐานการผลิต
วันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ที่กระทรวงแรงงาน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานเปิดงาน วันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2565 โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เข้าร่วม
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน, นายสุชาติ ไทยล้วน ประธานสภาองค์การลูกจ้างแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ 2565 ผู้บริหารระดับสูง ข้าราชการ สมาชิกสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย สมาชิกสหพันธ์แรงงานรัฐวิสาหกิจและแรงงานนอกระบบให้การต้อนรับและร่วมงาน
นายสุชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รายงานว่า นับตั้งแต่ปี 2562 มีข้อเรียกร้องของผู้ใช้แรงงาน 17 ข้อ ดำเนินการไปแล้ว 10 ข้อ เหลืออีก 7 ข้อเรียกร้องที่จะดำเนินการต่อไป รัฐบาลให้ความสำคัญกับผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม และพร้อมกับการแก้ปัญหา โดยช่วงสถานการณ์โควิด-19 รัฐบาลได้เยียวยาผู้ประกันตน ที่ได้รับผลกระทบทุกมาตรา ทั้งมาตรา 33 มาตรา 39 และมาตรา 40 รวม 20 ล้านคน และครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์ ที่นายกรัฐมนตรีมารับข้อเสนอจากผู้ใช้แรงงาน
ด้านนายสุชาติ ไทยล้วน ประธานคณะกรรมการจัดงานวันแรงงานแห่งชาติ ปี 2565 ยื่นข้อเรียกร้องวันแรงงาน 8 ข้อ ต่อนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย
1.ให้รัฐบาลรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ
2.เร่งดำเนินการนำ ร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ…. เข้ากระบวนการพิจารณาในสภา
3.ขยายวงเงินเพื่อลดหย่อนภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างได้รับก้อนสุดท้ายตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
4.ปรับปรุง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541
5.ปฏิรูปแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันสังคม
6.เร่งรัฐออกกฏหมายคุ้มครองส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพแรงงานนอกระบบ
7.จัดระบบกองทุนสวัสดิการเลี้ยงชีพลูกจ้างภาครัฐ วิสาหกิจ
8.ตั้งคณะทำงานติดตามข้อเรียกร้องทั้งหมดทั้งหมด
ต่อมา นายกรัฐมนตรีกล่าวสุนทรพจน์เปิดงานวันแรงงานแห่งชาติ ประจำปี 2565 ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลตระหนักถึงบทบาทของพี่น้องผู้ใช้แรงงาน ในฐานะที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ อีกทั้งยังตระหนักถึงสิทธิ ความเสมอภาค สวัสดิการ และความปลอดภัยในอาชีพ พร้อมรับฟังความต้องการของผู้ใช้แรงงาน เพื่อนำไปประกอบการพัฒนาความเป็นอยู่ และยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ใช้แรงงาน และยกระดับคุณภาพชีวิตให้มีความสุข มั่นคง
เมื่อมีโควิด-19 เข้ามา รัฐบาลได้ดูแล เยียวยา ทั้งกลุ่มแรงงานและเจ้าของสถานประกอบการ โดยใช้งบประมาณดูแลเฉพาะเรื่องนี้ไปถึง 1 ล้านล้านบาท ทั้งการฟื้นฟูและเยียวยา ขณะนี้ยังเกิดสถานการณ์ความขัดแย้งในโลก จึงเกิดผลกระทบในห่วงโซ่การผลิตทั้งหมดของทั้งโลก เรามีโรงงานอุตสาหกรรมที่ต้องอาศัยวัตถุดิบจากหลายประเทศ เมื่อมีสถานการณ์ผลิกผัน เราต้องเตรียมมาตรการอื่นไว้รองรับด้วย
พล.อ.ประยุทธ์ ยืนยันว่า รัฐบาลไม่เคยทอดทิ้งผู้ใช้แรงงาน ทำอย่างไรประเทศจะมีรายได้ในอนาคต ทำอย่างไรจะมีการพัฒนาเทคโนโลยีที่มากขึ้น และทำอย่างไรคนไทยที่เป็นแรงงาน จะมีงานทำในลักษณะหัวหน้างาน จึงเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน การเพิ่มศักยภาพแรงงาน เพราะวันหน้าโลกอาจจะเปลี่ยนไปการใช้เครื่องจักร เครื่องมือ และใช้หุ่นยนต์ มากขึ้น ฉะนั้น เราต้องพัฒนาตัวเองเพื่อสามารถทำงานกับเครื่องจักรได้ในอนาคต และสามารถเป็นหัวหน้างานคุมงานได้ ต้องยกระดับแรงงานให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการผลิตในภาคอุตสาหกรรม จึงต้องพัฒนาตัวเอง หากต้องการรายได้เพิ่มขึ้น เพราะนักลงทุนจากต่างประเทศที่มาลงทุนต้องการแรงงานที่มีฝีมือ และยังต้องเตรียมพร้อมที่จะย้ายฐานผลิต หากมีความวุ่นวายอื่นขึ้นมา จะทำให้เขาย้ายฐานทันที ดังนั้น เราต้องมีความรัก ความสามัคคี พัฒนาตัวเอง และพร้อมร่วมมือกับรัฐบาลแก้ปัญหา เพื่อหารายได้เข้าประเทศให้มากกว่าเดิม และส่งเสริมการลงทุนที่ส่งเสริมสิ่งแวดล้อม
นายกรัฐมนตรี ยังรับข้อเสนอทั้ง 8 ข้อ เพื่อนำไปดำเนินการให้เป็นรูปธรรม และยืนยันว่ารัฐบาลมุ่งยกระดับป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ เพื่อปลดล็อกสถานการณ์การค้ามนุษย์ระดับเทียร์ 2 ที่ถูกจับตามอง ขณะที่แรงงานต่างด้าวต้องดูแลให้เป็นระบบ เพราะต้องใช้ทั้งแรงงานไทยและต่างด้าวพัฒนาระบบทั้งประเทศ ที่ผ่านมา รัฐบาลแก้ปัญหาขาดแรงงาน และเร่งคุ้มครองสวัสดิการแรงงาน เช่น ปรับปรุงแก้ไข พระราชบัญญัติประกันสังคม ให้สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง การคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมีกฎหมายดูแลอยู่ หลายเรื่องอยู่ที่คณะกรรมการกฤษฎีกา หลายเรื่องอยู่ในการพิจารณาของ คณะรัฐมนตรี เพื่อส่งสภาฯ ออกเป็นกฎหมายต่อไป
“ขอย้ำว่าเราต้องพูดคุยและอยู่กันอย่างสันติวิธี ถ้าเรื่องไหนง่าย มีงบ และไม่กระทบกับเรื่องอื่น นายกฯไม่เคยปฏิเสธ เราจะไม่สร้างความเสียหายให้กับใคร รวมถึงรัฐบาลหน้า ก็ไม่อยากเอาปัญหาไปให้เขา วันนี้จะทำให้เต็มที่ จะได้แค่ไหนอยู่ที่ร่วมมือกัน ผมต้องการแค่กำลังใจเท่านั้นเพื่อสู้กับปัญหาต่าง ๆ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
สำหรับเรื่องการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น นายกรัฐมนตรี ระบุว่า กำลังหารือกันอยู่ว่าถ้าจะขึ้น จะขึ้นได้เท่าไหร่ ต้องดูเรื่องอัตราเงินเฟ้อด้วย และถ้าจะไม่ขึ้นเป็นเพราะอะไร สิ่งสำคัญวันนี้ คือ การย้ายฐานการผลิตไปที่อื่น เพราะนักลงทุนจะดูว่าจะไปประเทศไหน และอาจจะมองว่าที่อื่นลงทุนได้ง่ายกว่า สะดวกกว่าหรือไม่ ถูกกว่าหรือไม่
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: