กรุงเทพฯ – กฟผ. จับมือ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) เดินหน้าสร้างเครือข่ายสนับสนุนการใช้สารทำความเย็นธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศ มุ่งสู่ Carbon Neutrality
วันที่ 12 พฤษภาคม 2565 นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ผู้ช่วยผู้ว่าการแผนงานโรงไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารกองทุน CIF (Cooling Innovation Fund) เป็นผู้แทน กฟผ. ลงนามความร่วมมือในการส่งเสริมและขับเคลื่อนการใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว ระยะที่ 3 (Green Cooling Initiative (GCI) III) ในประเทศไทย กับ นายไรน์โฮลด์ เอลเกส ผู้อำนวยการองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน ประจำประเทศไทยและมาเลเซีย พร้อมด้วย นางสาวเดนีส อันเดรส หัวหน้าโครงการ GCI III ร่วมพิธีลงนาม ณ อาคาร 50 ปี กฟผ. สำนักงานกลาง กฟผ. จ.นนทบุรี
นางศรีวรรณ บูรณโชคไพศาล ระบุว่า ที่ผ่านมา กฟผ. และ GIZ ได้ร่วมกันผลักดันโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานและการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็น (RAC NAMA) สำเร็จไปแล้วเมื่อปี 2564 และเพื่อต่อยอดความร่วมมือในอุตสาหกรรมด้านการทำความเย็นที่ยั่งยืนของประเทศไทย กองทุนนวัตกรรมสำหรับอุตสาหกรรมทำความเย็น กฟผ. (EGAT Cooling Innovation Fund : CIF) และ GIZ จึงได้มีข้อตกลงร่วมกันในกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้โครงการพัฒนาเครือข่ายการทำความเย็นสีเขียว ระยะที่ 3 นี้ จนถึงเดือนมิถุนายน 2567
โดย กฟผ. และ GIZ จะร่วมกันดำเนินการ 4 มาตรการ คือ
1.การพัฒนาโครงการและหุ้นส่วนด้านการสาธิตทางนวัตกรรม
2.การฝึกอบรมด้านเทคนิคสำหรับภาคอุตสาหกรรม
3.การจัดกิจกรรมสร้างความรู้การใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว
4.มาตรการทางการเงิน เพื่อการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียว เพื่อร่วมผลักดันให้ภาคอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและเครื่องทำความเย็นของไทยมีส่วนช่วยให้ประเทศบรรลุเป้าหมาย Carbon Neutrality และ Net Zero Emission ต่อไป
นายไรน์โฮลด์ เอลเกส เปิดเผยว่า โครงการ GCI III เป็นโครงการระดับโลกที่มีวัตถุประสงค์ส่งเสริมการใช้สารทำความเย็นสีเขียว เพื่อลดผลกระทบด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจากอุตสาหกรรมการทำความเย็น ซึ่งเป็นภาคอุตสาหกรรมที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมาก และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทั่วโลก โดยโครงการ GCI III ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมฯ แห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี (BMUV) นอกจากนี้ โครงการฯ ยังมีเป้าหมายจัดตั้งให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางในการส่งเสริมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีการทำความเย็นสีเขียวในระดับภูมิภาคเอเชียอีกด้วย
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: