กรุงเทพฯ – หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ จับมือ ธนาคารโลก เร่งเพิ่มศักยภาพเมืองเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน หวังสร้างต้นแบบเมืองเข้มแข็ง 5 แห่งทั่วทุกภาค
วันที่ 25 พฤษภาคม 2565 นายกิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ระบุว่า การวิจัยเพื่อพัฒนาเมือง เป็นบทบาทหนึ่งที่ บพท. ให้ความสำคัญที่นอกเหนือจากการแก้ไขความยากจนครัวเรือนและการสร้างธุรกิจชุมชน ดังนั้น จึงได้ร่วมกับสถาบันการศึกษาและภาคีทั่วประเทศดำเนินการวิจัย จนสามารถจัดตั้งบริษัทพัฒนาเมืองขึ้นมาแล้วกว่า 19 แห่ง ในเมืองหลักทั่วประเทศ
บริษัทพัฒนาเมือง จึงถือเป็นกลไกใหม่ของการขับเคลื่อนและพัฒนาเมือง มีการพัฒนากลไกการประสานความร่วมมือทางสังคมอย่างมีทิศทาง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเป็นรูปธรรม โดยเน้นวิธีการแก้ปัญหาและตอบโจทย์เมือง (City Solution) ที่ใช้ชุดข้อมูลและความรู้ (Data & Knowledge) โดยมีหลักการสำคัญในการกระตุ้นให้ภาคส่วนต่าง ๆ ในพื้นที่ ร่วมกันศึกษาและวางแผนพัฒนาอย่างตรงความต้องการของประชาชนในหลากหลายมิติ เช่น ขอนแก่นพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ภูเก็ตเมืองสุขภาพ และนครราชสีมาเมืองคาร์บอนต่ำ
อย่างไรก็ตาม เมืองต้นแบบเหล่านี้ ยังพบข้อจำกัดในด้านงบประมาณที่จะพัฒนา และต้องหาแนวทางแก้ไขให้ก้าวต่อไปได้ ซึ่งการพัฒนาเมืองและท้องถิ่น จะรองบประมาณจากรัฐอย่างเดียวไม่ได้ จึงต้องการการเสริมพลังให้ท้องถิ่นและกลไกพัฒนาเมือง
ข่าวน่าสนใจ:
“จากรายงานด้านประชากรของไทย แสดงว่าประชากรในเขตเมืองเพิ่มขึ้นจนเกิน 50% ของประชากรทั้งหมด และยังจะเพิ่มต่อไปตามการศึกษาของธนาคารโลกที่ว่าในปี 2593 เอเชียจะมีประชากรในเมือง 61% ถ้าประเทศแก้จุดนี้ได้ จะเกิดระบบทุนเพื่อพัฒนาเมือง ช่วยให้เมืองต่าง ๆ ขยายตัวอย่างมีประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ แทนที่จะเป็นการสะสมปัญหา การวิจัยในครั้งนี้อาจจะเป็นต้นแบบไปสู่ประเทศอื่น ๆ ต่อไป” นายกิตติ กล่าว
บพท.จึงร่วมมือกับธนาคารโลก และมหาวิทยาลัยในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตลอดจนมหาวิทยาลัยเครือข่าย ได้แก่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เพื่อแสวงหานวัตกรรมและกลไกด้านทุน พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระดับเมืองของประเทศไทย 5 เมือง คือ ขอนแก่น-เชียงใหม่-ภูเก็ต-ระยอง-นครสวรรค์
ด้าน รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร บพท. กล่าวว่า ที่ผ่านมา ข้อจำกัดด้านงบประมาณและศักยภาพ ปิดกั้นโอกาสในการลงทุนทางโครงสร้างพื้นฐาน ส่งผลให้เมืองต่าง ๆ มีการขยายตัวแบบไร้ทิศทาง ดังนั้น จากนี้ไป บพท.จะผลักดันให้เกิด ‘ความสามารถในการลงทุนในระดับพื้นที่’ ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ ที่จะต้องเติมเต็มในภาพของกลไกใหม่ของการขับเคลื่อนเมือง เพื่อสร้างเมืองน่าอยู่ เกิดการกระจายศูนย์กลางความเจริญ และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น เราหวังว่างานวิจัยนี้จะช่วยปลดล็อคการพัฒนาในพื้นที่ต่าง ๆ ให้ประเทศเติบโตทั่วถึงไปพร้อมกัน แล้วความเหลื่อมล้ำจะลดลง
ถูกใจข่าวนี้ไหม?
คลิกที่ดาวเพื่อโหวต
ความนิยมข่าวนี้ / 5. จำนวนโหวต: